มะเร็งชนิดต่าง ๆ ที่พบบ่อยในไทย มะเร็งมีกี่ชนิด?
โรคมะเร็งเป็นหนึ่งในภัยคุกคามสุขภาพที่สำคัญของคนไทยในปัจจุบัน และเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิต และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง จากสถิติโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าแต่ละปีมีคนไทยป่วยเป็นมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140,000 คน เสียชีวิตประมาณ 83,000 คน โดยมีชนิดของมะเร็งที่พบได้บ่อยแตกต่างกันไปตามเพศ กลุ่มอายุ พฤติกรรมการใช้ชีวิต และสิ่งแวดล้อม การทำความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งชนิดต่าง ๆ ที่พบบ่อยในไทยจะช่วยให้เราสามารถป้องกันและตรวจพบโรคได้ในระยะเริ่มต้น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มากขึ้น
มะเร็งคืออะไร
มะเร็ง (Cancer) หรือเนื้องอกร้าย (Malignant tumors) คือ กลุ่มของโรคที่เกิดเนื่องจากเซลล์ของร่างกายมีความผิดปกติ ที่ DNA หรือสารพันธุกรรม ส่งผลให้เซลล์มีการเจริญเติบโต มีการแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ รวดเร็ว และมากกว่าปกติ เซลล์ร้ายพัฒนากลายเป็นก้อนมะเร็งที่รบกวนการทำงานของเซลล์ปกติในอวัยวะ และแพร่กระจายลุกลามผ่านทางระบบเลือด และระบบทางเดินน้ำเหลืองไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ถ้าเซลล์พวกนี้เกิดอยู่ในอวัยวะใดก็จะเรียกชื่อมะเร็งตามอวัยวะนั้นเช่น มะเร็งปอด มะเร็งสมอง มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็ง เม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งผิวหนัง เป็นต้น
ประเภทของมะเร็งและการจำแนกตามอวัยวะที่เกิดโรค
โดยทั่วไปมะเร็งสามารถจำแนกออกได้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ตามอวัยวะที่เป็นจุดกำเนิดของเซลล์มะเร็ง ได้ดังนี้
1.Carcinoma คาซิโนมา
มะเร็งที่มีจุดกำเนิดมาจากเนื้อเยื่อบุอวัยวะต่าง ๆ ทั้งด้านในและด้านนอกของพื้นผิวร่างกาย มะเร็งประเภทนี้เป็นมะเร็งประเภทที่พบได้บ่อย
- มะเร็งชนิดต่อม (Adenocarcinoma) มะเร็งประเภทนี้พบได้บ่อยในเต้านม ต่อมลูกหมาก ปอด และลำไส้ใหญ่
- มะเร็งผิวหนัง (Basal cell carcinoma) เป็นมะเร็งที่เกิดบริเวณฐานของหนังกำพร้าที่อยู่ด้านบนสุด
- มะเร็งผิวหนังชนิดสความัสเซลล์ (Squamous cell carcinoma) หรือ ชนิดอิพิเดอร์มอยด์ (Epidermoid carcinoma) เกิดใต้หนังกำพร้าหรือในเยื่อบุปอด ช่องปาก ลำคอ และ หลอดอาหาร
- มะเร็งชนิด Transitional cell carcinoma (TCC) พบในเนื้อเยื่อบุด้านในทางเดินปัสสาวะ เช่น กรวยไต ท่อไต และ กระเพาะปัสสาวะ
2. Sarcoma ซาร์โคมา
มะเร็งชนิดนี้มีจุดกำเนิดมาจากกระดูก กระดูกอ่อน ไขมัน กล้ามเนื้อ ท่อน้ำเหลือง หลอดเลือด เอ็น และเส้นเอ็น
3.Leukemia ลูคีเมีย
มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีจุดกำเนิดมาจากเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูก ทำให้มีความผิดปกติของเม็ดเลือด มะเร็งเม็ดเลือดขาวสามารถจําแนกออกได้หลายประเภท เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน (Acute leukemia) มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง (Chronic leukemia) มะเร็งเม็ดเลือดขาวจากต่อมน้ำเหลือง (Lymphoblastic leukemia) มะเร็งเม็ดเลือดขาวมัยอีลอยด์ (Myeloid leukemia)
4.Lymphoma and myeloma ลิมโฟมา และ ไมอิโลมา
มะเร็งที่มีจุดกำเนิดมาจากเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกัน
5. Central nervous system neoplasms มะเร็งจากระบบสมอง และไขสันหลัง
มะเร็งสมองและไขสันหลังจะเรียกตามอวัยวะต้นกำเนิดและชนิดของเซลล์ ตัวอย่างเช่น เซลล์แอสโทรไซต์ (astrocytes) เป็นเซลล์ต้นกำเนิดของเนื้องอกแอสโทรไซต์
โรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย 5 อันดับแรก คือ
โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก โดยมีมะเร็งหลายชนิดที่พบได้บ่อยและต้องการการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาหาร และปัจจัยสิ่งแวดล้อมล้วนมีผลต่อการเกิดมะเร็ง โดยโรคมะเร็งที่พบ 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งลําไส้ใหญ่และไส้ตรง และมะเร็งปากมดลูก ตามลำดับ สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย 5 อันดับแรก คือ
1. มะเร็งตับและท่อน้ำดี
เป็นโรคที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ซึ่งพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 3 เท่า ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 30- 70 ปี สาเหตุของมะเร็งตับส่วนมากเกิดจากการเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบชนิดบี ส่วนสาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดี เกิดจากพยาธิใบไม้ตับ ร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีดินประสิว (ไนเตรท) และไนไตรท์ เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้มแหนม การกินปลาน้ำจืดดิบ ฯลฯ นอกจากนี้ การดื่มสุราเป็นประจำ การรับสารพิษอะฟลาทอกซินที่เกิดจากเชื้อราบางชนิดที่พบในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง รวมถึงไวรัสตับอักเสบชนิดซี ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้
ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการของโรคแตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปในระยะแรกมักไม่มีอาการ อาการส่วนใหญ่ที่พบ เช่น แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อเป็นประจำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปวดหรือเสียดชายโครงขวา อาจคลำพบก้อนในช่อง ท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต และมีอาการบวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
แนวทางการป้องกัน
- ลดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ไม่รับประทานปลาน้ำจืดดิบ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin)
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารไนโตรซามีน อาหารที่มีดินประสิว และอาหารหมักดอง
- ควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่แรกเกิด
- รับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ
ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งตับ ได้แก่ ผู้ป่วยตับแข็ง และผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาตรวจคัดกรองมะเร็งตับ ได้แก่ การอัลตราซาวด์ตับ ร่วมกับการตรวจค่ามะเร็งในเลือด
2. มะเร็งปอด
ปัจจุบันมะเร็งปอดเป็นโรคมะเร็งที่พบมากในประเทศไทย โดยพบในเพศชายเป็นอันดับ 2 และในเพศหญิงเป็นอันดับ 4 มะเร็งปอดเกิดจากเซลล์ส่วนใดส่วนหนึ่งในปอดมีความผิดปกติและเติบโตรวดเร็วจนกลายเป็นก้อนเนื้อร้าย โรคมะเร็งปอดสาเหตุส่วนใหญ่มาจาก
- การสูบบุหรี่หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีควันบุหรี่
- การได้รับมลพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง PM 2.5
- ได้รับสารพิษและมลพิษ เช่น ก๊าซเรดอน สารหนู โครเมียม นิกเกิล แร่ใยหิน ฯลฯ
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด
- ผู้ที่เคยมีรอยเผลเป็นของโรคที่ปอด เช่น เคยเป็นวัณโรคปอด หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง มีโอกาสเกิดมะเร็งปอดสูงกว่าบุคคลที่ไป
- ปัจจัยอื่น ๆ ที่มีความเสียงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น การใช้สารเสพติดบางประเภท เช่น โคเคน
- อาการของมะเร็งปอด ปกติแล้วโรคมะเร็งปอดในระยะแรกเริ่มจะไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา ซึ่งจะแสดงอาการต่อเมื่อเข้าสู่ระยะที่ 3-4 แล้ว แต่ก็ควรสังเกตอาการตัวเองหากมีความผิดปกติของร่างกายที่เปลี่ยนไปดังนี้
- ไอเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการไอเป็นระยะเวลานาน ไอมีเสมหะปนเลือด ซึ่งอาจมีปริมาณเล็กน้อย หรือเลือดสดก็ได้ เสียงแหบ และเจ็บหน้าอกเมื่อไอ
- ปัญหาด้านการหายใจ ผู้ป่วยมักจะมีอาการหายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก รู้สึกเหนื่อยหอบตลอดเวลา หายใจมีเสียงหวีด
- เบื่ออาหาร เพราะเนื้อร้ายจะไปกดเบียดหลอดอาหาร ทำให้ผู้ป่วยกลืนอาหารลำบาก จึงไม่อยากทานอาหาร ร่างกายอ่อนเพลีย น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ
- เมื่อมะเร็งมีการลุกลามไปที่อื่น จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น ปวดตามข้อกับกระดูกตัวหากลามไปที่กระดูก หรือหากมีการลามไปที่ตับอาจทำให้เกิดอาการตัว ตาเหลือง หรือหากมีการอุดตันที่หลอดเลือดจะทำให้เกิดใบหน้าบวม เป็นต้น
แนวทางการป้องกัน
- ไม่สูบบุหรี่หรือหยุดสูบบุหรี่ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดสําหรับตัวเองและบุคคลรอบข้าง
- หลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง ควันบุหรี่มือสองคือตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดแม้กระทั่งกับผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ โดยการสวมหน้ากากอนามัย และอยู่ให้ห่างจากพื้นที่สูบบุหรี่
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญ วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่สมอ
- หมั่นตรวจร่างกาย โดยการตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
3. มะเร็งเต้านม
เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย โดยประมาณ 90% ของมะเร็งเต้านมเกิดจากต่อมน้ำนมและท่อน้ำนม ส่วนมากจึงจะพบในหญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปี แต่ไม่ใช่ผู้หญิงเท่านั้นที่มีโอกาสเป็น เพราะผู้ชายเองก็เป็นได้ มะเร็งเต้านม เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม เซลล์เหล่านี้มีการแบ่งตัวผิดปกติที่ไม่สามารถควบคุมได้ มักแพร่กระจายไปตามทางเดินน้ำเหลือง ไปสู่อวัยวะที่ใกล้เคียงเช่น ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือแพร่กระจายไปสู่อวัยวะที่อยู่ห่างไกล เช่น กระดูก ปอด ตับ สาเหตุของโรคมะเร็งเต้านมได้แก่
- ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ คือ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม
- อายุ เมื่ออายุเพิ่มขึ้นก็มีโอกาสที่จะมีความผิดปกติของยีนในเซลล์เพิ่มขึ้น
- ผู้ที่มีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อยกว่า 12 ปี หรือหมดประจำเดือนมากกว่าอายุ 50 ปี
- ดื่มแอลกอฮอล์ ผู้หญิงที่ดื่มมากกว่า2-5 แก้วต่อวัน มีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่ดื่ม 1.5 เท่า
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่กินยาฮอร์โมนทดแทน
- มะเร็งเต้านมเป็นภัยร้ายที่แฝงตัวมาแบบเงียบ ๆ เพราะในระยะแรกแทบไม่มีอาการใด ๆ จนกระทั่งพบก้อนเนื้อที่เริ่มใหญ่และคลำเจอง่ายขึ้น ผู้ป่วยจึงจะรู้สึกได้ถึงความผิดปกติ
- คลำพบก้อนเนื้อบริเวณเต้านม หรือใต้รักแร้
- ขนาดหรือรูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป
- ผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม หรือ บวมหนา เหมือนเปลือกส้ม รวมถึงสีหรือผิวหนังบริเวณลานหัวนมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- มีน้ำเหลือง หรือ ของเหลวไหลออกมาจากหัวนม โดยเฉพาะหากพบว่าน้ำเหลืองหรือของเหลวไหลนั้นมีสีคล้ายเลือด และออกจากหัวนมเพียงรูเดียว
- อาการเจ็บผิดปกติที่เต้านม หรือ ผิวหนังของเต้านมอักเสบ หากมีอาการเจ็บเต้านมโดยที่ไม่ใช่ช่วงมีประจำเดือน หรือพบว่าผิวหนังรอบ ๆ เต้านมบวมแดงอักเสบ
แนวทางการป้องกัน
มะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่มไม่มีอาการ การตรวจคัดกรองอย่างต่อเนื่อง ด้วยการคลำเต้านมอย่างถูกวิธี ไปจนถึงการเข้ารับการตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม (Mammogram) และอัลตราซาวด์ (Ultrasound) จึงมีความสำคัญอย่างมาก หากพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและมีการวางแผนการรักษาอย่างทันท่วงทีทำให้มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้
4. มะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกเกิดได้กับผู้หญิงทุกคนที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ กว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) ซึ่งเป็นไวรัสที่ติดต่อผ่านการสัมผัสทั้งจากการมีเพศสัมพันธ์และไม่ใช่เพศสัมพันธ์ แต่ต้องเป็น HPV ชนิดที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ซึ่งมีทั้งหมด 15 สายพันธุ์ จากทั้งหมด 100 สายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 โดยอาจจะเกิดจากการติดต่อได้หลายช่องทาง เช่น ทางปาก ทางช่องคลอด หรือ ทางทวารหนัก โดยได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อ HPV อยู่
ระยะเริ่มแรกนี้มักจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ส่วนใหญ่เป็นการตรวจพบจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกประจำปี ผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แม้ไม่มีอาการใด ๆ หรือถ้าหากมีสัญญาณเตือนเหล่านี้ ยิ่งควรรีบพบแพทย์
- มีเลือดออกทางช่องคลอด เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างมีประจำเดือน
- ตกขาว หรือระดูขาวผิดปกติ เช่น มีกลิ่น มีเลือดปน ปริมาณมากผิดปกติ
- ปัสสาวะ อุจจาระเป็นเลือด (พบในกรณีมะเร็งลุกลามไปกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย)
- ปวดหลัง ขาบวม ไตวาย (กรณีที่มะเร็งมีระยะลุกลามรุนแรง)
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
แนวทางการป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน และงดสูบบุหรี่
- ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- เมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น ตกขาวผิดปกติ เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ ควรมาพบแพทย์
- หมั่นตรวจคัดกรองมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยปีละครั้ง
- สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี ป้องกันมะเร็งที่เกิดจากเชื้อไวรัส HPV ได้ถึง 90%
5. มะเร็งเม็ดเลือดขาว
มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย (Leukemia) เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ปัจจุบันพบมากขึ้นในผู้สูงอายุ เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวในไขกระดูกมีการเจริญแบ่งตัวมากผิดปกติ ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดขาวออกมามากกว่าปกติในกระแสเลือดส่งผลให้ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดชนิดอื่น ๆ ได้ตามปกติและอาจแทรกซึมไปตามอวัยวะต่าง ๆ ทำให้ระบบต่าง ๆ ทำงานผิดปกติไป มะเร็งเม็ดเลือดขาว แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือมะเร็งเม็ดเลือดขาว ชนิดเฉียบพลันและมะเร็งเม็ดเลือดขาว ชนิดเรื้อรัง
มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นโรคที่ยังไม่สามารถหาต้นเหตุการเกิดที่ชัดเจน แต่อาจมีปัจจัยบางอย่างที่สัมพันธ์กับโรค เช่น
- การได้รับสารเคมีบางอย่าง
- ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- ประวัติได้รับการรักษามะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดหรือการฉายแสง ทำให้มีการกลายพันธุ์ของ DNA ของเซลล์เม็ดเลือดขาว
- โรคที่มีความผิดปกติของพันธุกรรม เช่น ภาวะดาวน์ซินโดรม
- มีประวัติมะเร็งเม็ดเลือดขาวในครอบครัว
- การสัมผัสกับสารเคมีในสิ่งแวดล้อม เช่น สารเคมีในกลุ่มพวกเบนซีน และยาฆ่าแมลงบางชนิด
- อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวก็ยิ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
- ผู้ป่วยโรคไขกระดูกเสื่อม (Myelodysplastic syndrome, MDS)
- เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ทำให้เกิดอาการที่อาจพบได้มีดังนี้
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซีด อ่อนเพลียง่าย เวียนหัว ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ปกติจากการมีภาวะเลือดจาง เม็ดเลือดแดงน้อย
- เลือดออกง่าย เป็นเพราะเม็ดเลือดขาวตัวอ่อนเบียดเบียนการสร้างเกล็ดเลือดทำให้ร่างกายมีเกล็ดเลือดต่ำ ส่งผลให้มีเลือดออกง่าย เช่น เลือดออกตามไรฟัน ประจำเดือนมามากผิดปกติ มีจ้ำเลือดตามร่างกายมีเลือดกำเดาไหลปริมาณมาก เป็นต้น
- ติดเชื้อง่าย เป็นไข้บ่อย เพราะเม็ดเลือดขาวไม่สามารถทำหน้าที่เป็นเกราะในการป้องกันและต่อสู้กับเชื้อโรค จึงทำให้ร่างกายติดเชื้อ หรือเป็นหวัดได้ง่ายและบ่อยกว่าปกติ
- คลำพบก้อนตามตัว หรือปวดกระดูก เพราะเม็ดเลือดขาวที่แบ่งตัวออกมาผิดปกติจะไปสะสมอยู่ตามกระดูกและอวัยวะต่าง ๆ ทำให้รู้สึกปวดกระดูกและคลำพบก้อนขึ้นตามต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ ขา คอ หรือรู้สึกจุกแน่นท้องจากตับ ม้ามโตได้
แนวทางการป้องกัน
เนื่องจากยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงในการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว การป้องกันและลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ทำได้ด้วยการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่ดีแข็งแรง โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย คอยตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญคือ การหลีกเลี่ยงสารกัมมันตรังสีและสารเคมีที่ก่อโรคมะเร็ง
มะเร็งบางชนิดอาจไม่มีความผิดปกติของร่างกายใด ๆ แสดงให้เห็น ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง (Cancer Screening) เป็นการตรวจหาความผิดปกติภายในร่างกายก่อนที่จะมีอาการแสดง ทำให้สามารถตรวจพบโรคร้ายได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ทำให้สามารถทำการรักษาโรคร้ายได้ทันท่วงที และเพิ่มโอกาสการหายขาดได้ศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ นำโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านมะเร็งวิทยา ร่วมกับทีมแพทย์สหสาขาในการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิดแบบองค์รวม ด้วยกระบวนการรักษาด้วยมาตรฐานสากลพร้อมด้วยอุปกรณ์การแพทย์และเทคโนโลยีอันทันสมัยแบบครบวงจร และบุคคลากรทางการแพทย์ที่คอยให้การติดตามผลหลังการรักษาอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้รับการรักษาหายขาดจากโรคมะเร็ง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
บทความนี้ได้รับการตรวจสอบโดย
นพ.ธนา ปฏิมารัตนานันท์ แพทย์เฉพาะทางมะเร็ง โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ
ข้อมูล ณ เดือน พฤศจิกายน 2567
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ
สถานที่
เวลาทำการ
เบอร์ติดต่อ
045-96-8888