Header

มะเร็งปากมดลูก คืออะไร สาเหตุอาการ การรักษา รู้ก่อนเสี่ยง

พญ.ชัชฎาภรณ์ ไชยรักษ์ พญ.ชัชฎาภรณ์ ไชยรักษ์

มะเร็งปากมดลูก คืออะไร โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ

     เคยสงสัยไหมว่าทำไมผู้หญิงถึงต้องไปตรวจมะเร็งปากมดลูก แน่นอนว่ายุสมัยนี้ทำให้เราสามารถเข้าถึงข่าวสารได้ง่ายดายขึ้น รวมถึงเรื่องข่าวสุขภาพ ทำให้หลายคนอาจได้พอได้เห็น หรือได้ยินกันมาบ้างแล้วว่ามะเร็งไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะมะเร็งเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด ใกล้เกินกว่าที่เราจะจินตนาการไว้มาก ผู้หญิงไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกมากถึงปีละ 5 พันคน แน่นอนว่าเป็นโรคร้ายที่ใครก็คาดไม่ถึง และไม่อยากให้เกิดกับตัวเอง คนใกล้ตัวหรือคนที่เรารักเลย ก่อนอื่นเลยผู้หญิงทุกคนอาจจะรู้จัก "มะเร็งปากมดลูก" กันบ้างแล้วนะครับ แต่ทราบหรือไม่ว่ารู้จักแค่ไหน หรือรู้จักกันมากน้อยแค่ไหนครับ แน่นอนว่ามีคนบางกลุ่มอาจจะรู้จักแค่ชื่อโรคใช่ไหมครับ โรคนี้อาจฟังแล้วดูน่ากลัว แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถป้องกัน และตรวจพบได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ มะเร็งปากมดลูกไม่ได้เกิดขึ้นกับใครก็ได้ แต่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่เราควรรู้ เพื่อที่จะได้ดูแลสุขภาพของตัวเองได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจถึงสาเหตุ อาการ การรักษา เพื่อรู้ก่อจะเข้าข่ายเสี่ยงกันครับ 

 

มะเร็งปากมดลูก คืออะไร

     มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) คือ การติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่าง HPV (Human Papillomavirus) โดยบางสายพันธุ์จะเข้าไปทำลายเซลล์ที่ปากมดลูก ทำให้การเจริญเติบโตของเซลล์ผิดปกติ จนกลายเป็นมะเร็ง และสามารถลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้

 

อาการโรคมะเร็งปากมดลูก

     โรคมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกมักจะไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ ซึ่งทำให้อาจจะยังไม่มีอาการที่ชัดเจน แต่เมื่อโรคเข้าสู่ระยะที่เริ่มลุกลาม อาจมีอาการที่แสดงให้เห็นมากขึ้น ดังนี้

  • ช่องคลอดมีเลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือช่วงหลังหมดประจำเดือน เลือดออกกระปริดกระปรอย ประจำเดือนมามากผิดปกติ
  • ตกขาวผิดปกติ อาจมีปริมาณมากขึ้น มีกลิ่นเหม็น สีเหลืองเขียว หรือมีเลือดปน
  • ปวดท้องน้อยโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจปวดเรื้อรัง ปวดรุนแรง หรือปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ในกรณีที่โรคลุกลามอาจมีอาการปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะมีเลือดปน

     ดังนั้นหากใครที่ยังไม่มีอาการก็อย่าเพิ่งชะล่าใจไปค่ะ การตรวจมะเร็งปากมดลูกยังคงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นการตรวจคัดกรองเพื่อหาความผิดปกติของเซลล์ที่ปากมดลูก ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งหากตรวจพบและรักษาได้ทันท่วงที โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดก็สูงขึ้นนั่นเองค่ะ

 

 

มะเร็งปากมดลูก มีกี่ระยะ ?

     มะเร็งปากมดลูกแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ตามระดับความรุนแรงและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง โดยจะมีการแบ่งประเภท ดังนี้

  • ระยะก่อนเป็นมะเร็ง (Precancerous Stage) เป็นระยะที่เซลล์บริเวณปากมดลูกเริ่มมีความผิดปกติ หรือเปลี่ยนแปลง แต่ยังไม่กลายเป็นมะเร็ง สามารถพบได้จากการตรวจคัดกรอง เช่น Pap smear หรือ HPV DNA test ซึ่งการรักษาในระยะยังมีโอกาสหายขาดมีสูงมาก เช่น การจี้เย็นหรือการผ่าตัดนำเซลล์ผิดปกติออก 
  • มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 มะเร็งปากมดลูกระยะแรก หากตรวจพบในระยะนี้ โอกาสในการรักษาให้หายขาดเป็นไปได้สูงมาก เนื่องจากเซลล์มะเร็งยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น เซลล์จึงยังคงอยู่ในบริเวณปากมดลูกเท่านั้น ยังไม่ได้ลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงอื่นของร่างกาย อาจใช้การผ่าตัด เช่น ตัดเฉพาะปากมดลูก หรือตัดมดลูก และบางรายอาจใช้รังสีรักษา

                - ระยะ 1A มะเร็งยังมีขนาดเล็กมาก (ตรวจพบได้เฉพาะด้วยกล้องจุลทรรศน์)

                - ระยะ 1B มะเร็งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ยังไม่ลุกลามไปนอกปากมดลูก

  • มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2 เป็นระยะที่เริ่มลุกลามออกนอกปากมดลูก โดยเซลล์มะเร็งเริ่มลุกลามไปยังเนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ แต่ยังไม่ถึงผนังอุ้งเชิงกราน หรือช่องคลอดส่วนล่าง อาจรักษาด้วยการใช้การผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสี และเคมีบำบัด
  • มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3 มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะใกล้เคียง เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามไปยังผนังอุ้งเชิงกราน ช่องคลอดส่วนล่าง ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง หรืออาจกดท่อไต จนทำให้ไตทำงานผิดปกติ ส่วนใหญ่ในระยะนี้มักใช้การฉายรังสีร่วมกับเคมีบำบัด
  • มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 4 มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะที่ไกลออกไป เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ หรือปอดต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ห่างไกล รักษาด้วยดูแลแบบประคับประคองเพื่อบรรเทาอาการ การใช้การฉายรังสี  และการใช้เคมีบำบัด

 

สาเหตุโรคมะเร็งปากมดลูก

     มะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papillomavirus) เป็นไวรัสที่สามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งมีบางสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็ง เช่น HPV-16 และ HPV-18 ที่เป็นสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกบ่อยที่สุด แต่ก็ยังไม่ใช่ทุกคนที่ติดเชื้อ HPV แล้วเชื้อจะพัฒนาเป็นมะเร็งอาจมีปัจจัยอื่นร่วมด้วยเช่นกันค่ะ
     ซึ่งระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลงของเซลล์จนกลายเป็นมะเร็งนั้นใช้เวลาหลายปี ดังนั้นการตรวจสุขภาพเป็นประจำจึงมีความสำคัญอย่างมากที่ไม่ควรมองข้ามเลยครับ 

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อมะเร็งปากมดลูก

     มะเร็งปากมดลูกนอกจากการติดเชื้อ HPV แล้วยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็งปากมดลูก ได้แก่

  • การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันไม่มีความแข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับเชื้อ HPV ได้
  • มีคู่นอนหลายคน หรือการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยจะเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ HPV ได้ง่าย
  • การสูบบุหรี่ จะทำลายระบบภูมิคุ้มกัน และทำลาย DNA ของเซลล์ ร่างกายจึงไม่สามารถต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้
  • ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้ร่างกายไม่สามารถต่อต้าน หรือทำลายเซลล์มะเร็งได้ ทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ง่ายกว่า 
  • การไม่ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ เป็นเหมือนการปล่อยให้ระเบิดเวลาทำงานเงียบ ๆ ในร่างกายค่ะ
  • การกินยาเม็ดคุมกำเนิด แต่ทั้งนี้การกินยาคุมกำเนิดไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็ง แต่การรับประทานยาคุมกำเนิดนาน ๆ อาจแค่เป็นปัจจัยในการเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็ง

 

สถิติมะเร็งปากมดลูก ของผู้หญิงไทย

     สถาบันมะเร็งแห่งชาติออกมาเปิดเผยถึงตัวเลขจากโรคมะเร็งปากมดลูก ที่พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่สูงถึงจำนวน 5,000 คนต่อปี และจากสถิติยังพบว่าโรคมะเร็งปากมดลูกคร่าวชีวิตไปแล้วประมาณ 3,000 รายต่อปี ทั้ง ๆ ที่เป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันได้ถึงร้อยละ 80 แต่ก็ยังเป็นตัวเลยที่น่าตกใจเหมือนกันค่ะ โดยส่วนมากพบในผู้หญิงที่ช่วงอายุ 40-60 ปี เพราะหลังจากได้รับเชื้อไวรัส HPV แล้วจะใช้เวลาฝักตัวประมาณ 10 ปีหากใครได้รับเชื้อตั้งแต่ช่วงอายุ 20 ต้น ๆ ซึ่งถือเป็นวัยรุ่นคึกคะนองก็อาจมารู้ตัวอีกทีตอนที่เป็นโรคมะเร็งแล้วในช่วงอายุราวๆ 30 ปีขึ้นไปแล้วก็ได้

 

การป้องกันมะเร็งปากมดลูก

     การตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นการดูแลสุขภาพที่ไม่ควรมองข้ามเลย เพราะสามารถช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงที่จะพัฒนาเป็นมะเร็งได้อีกด้วย เพราะโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ซึ่งการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การดูแลเอาใจใส่กับตัวเองโดยเริ่มต้นตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนี้
1. ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV
     วัคซีน HPV ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก ควรฉีดวัคซีนตั้งแต่อายุยัง 9-14 ปีเพื่อให้ตัวยามีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งแม้จะเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็ยังสามารถฉีดวัคซีนได้
2. การตรวจ HPV DNA Test
     เป็นการตรวจหาเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก มักทำร่วมกับ Pap smear ในผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไป
3. ตรวจภายในเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอทุก 1-2 ปี

  • การตรวจ Pap smear ควรเริ่มตรวจเมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป หรือหลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และตรวจซ้ำทุก 3 ปี หรือบ่อยตามคำแนะนำของแพทย์
  • การตรวจภายในทั่วไป การตรวจมดลูกและรังไข่ เพื่อตรวจหาความผิดปกติ เช่น ก้อนเนื้อหรือการอักเสบ

 

การวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูก

     การวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นขั้นตอนสำคัญมากที่จะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบโรคในระยะแรกเริ่ม หรือยืนยันการวินิจฉัยหากพบความผิดปกติ เพื่อให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแพทย์จะใช้หลายวิธีร่วมกันในการวินิจฉัยโรค ดังนี้

1. การตรวจคัดกรอง (Screening)
     เป็นวิธีการตรวจเบื้องต้นเพื่อค้นหาการติดเชื้อ HPV และความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูก

  • การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) เพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็งในระยะเริ่มต้น 
  • การตรวจ HPV DNA Test เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง อย่าง HPV-16 และ HPV-18 

2. การตรวจเพิ่มเติม (Diagnostic Tests)
     หากผลการตรวจคัดกรองแล้วพบความผิดปกติ แพทย์อาจทำการส่งการตรวจ เฉพาะทางเพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียดขึ้น

  • การส่องกล้องปากมดลูกด้วยตรวจการคอลโปสโคป (Colposcopy) 
  • การผ่าตัดชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัย (Biopsy) ด้วยการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากปากมดลูกไปทำการส่องกล้องเพื่อยืนยันชนิด และระดับความรุนแรงของโรค

3. การตรวจทางภาพถ่ายรังสี (Imaging Tests)
     หากผลวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก แพทย์อาจใช้การตรวจทางรังสีเพื่อดูการลุกลามของมะเร็งเพิ่มเติม

  • CT Scan เพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะใกล้เคียง
  • MRI เพื่อช่วยประเมินการลุกลามของเซลล์มะเร็งของอุ้งเชิงกราน
  • PET Scan เป็นการตรวจโรคทางด้านรังสิวิทยา โดยการใช้สารกัมมันตรังสีเพื่อตรวจหาการแพร่กระจาย

4. การตรวจเลือดและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
     การตรวจเลือด เพื่อประเมินสุขภาพทั่วไป รวมถึงการทำงานของอวัยวะอื่นในร่างกาย และการตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง CEA เพื่อติดตามผลการรักษาในผู้ป่วยในระยะลุกลาม

5. การกำหนดระยะของมะเร็ง (Staging)
     หากผลการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง แพทย์จะกำหนดระยะของโรค เพื่อวางแผนการรักษา โดยใช้ข้อมูลจากการตรวจชิ้นเนื้อ และการตรวจทางรังสี ซึ่งแบ่งมะเร็งเป็น 4 ระยะหลักตามการลุกลามของโรค

     สรุปให้เข้าใจง่าย คือ การวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูกสามารถทำได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ด้วยการตรวจคัดกรองเบื้องต้น เช่น Pap smear และ HPV DNA test หากพบความผิดปกติ แพทย์จึงจะเริ่มทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น Colposcopy และ Biopsy เพื่อเป็นการยืนยันผลวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำ ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้ไปในทิศทางที่ดีได้

 

การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก

     การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่พบด้วยค่ะ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งหากเริ่มตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ ไม่น่ากังวลอะไรมาก แต่อาจมีผลกระทบในด้านอื่นด้วย เช่น สำหรับคนที่กำลังวางแผนมีบุตรในอนาคต โดยวิธีการรักษามีหลายวิธีที่สามารถใช้เดี่ยว ๆ หรือร่วมกันได้เช่นกัน ดังนี้ 

  • การผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาที่นิยมใช้ในระยะเริ่มต้นของโรค โดยการผ่าตัดเอาส่วนที่เป็นมะเร็งออก ซึ่งอาจรวมถึงปากมดลูก มดลูก หรืออวัยวะอื่นที่ถูกมะเร็งลุกลาม
  • รังสีรักษา ด้วยการรังสีใช้พลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง มักใช้ร่วมกับเคมีบำบัด หรือใช้หลังการผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำ
  • เคมีบำบัด เป็นการใช้ยาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง มักใช้ร่วมกับการรักษาอื่น เช่น รังสีรักษา หรือใช้ก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของเนื้องอก
  • การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง เช่น การใช้ยาชีวภาพ หรือการรักษาด้วยภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นการรักษาที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ซึ่งอาจใช้แค่ในบางกรณี


ศูนย์มะเร็ง PSSK

     ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลพริ้นซ์ศรีสะเกษ เป็นศูนย์กลางที่มุ่งเน้นการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างครบวงจร ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา พร้อมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเรามีเป้าหมายให้บริการรักษามะเร็งและรังสีรักษา ที่มีมาตรฐานสากลเพื่อให้ชาวศรีสะเกษและพื้นที่ใกล้เคียง ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เรามุ่งมั่นเพื่อเดินหน้ายกระดับการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ ด้วยการเปิดศูนย์มะเร็งและรังสีรักษาแห่งแรกของจังหวัดศรีสะเกษ ถือเป็นการร่วมกับภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในพื้นที่อย่างครบวงจร และทันสมัย ให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่มุ่งเน้นการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจนถึงระยะสุดท้าย ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาค หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์มะเร็งศรีสะเกษ สามารถติดต่อได้ที่ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ  

 

บทความโดย
พญ.ชัชฎาภรณ์ ไชยรักษ์  (แผนกสูตินรีเวช-ฝากครรภ์)
ข้อมูล ณ เดือน ธันวาคม 2567



แพทย์ประจำศูนย์

แผนกศัลยกรรมตกแต่ง

นพ.ศราวุฒิ สมานชาติ

ศัลยศาสตร์ตกแต่ง

ศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา

นพ.ธนา ปฏิมารัตนานันท์

อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา

ศัลยกรรมประสาท และสมอง

นพ.จาตุรงค์ คำทา

ประสาทศัลยศาสตร์

แพทย์แนะนำ

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

พญ.กิติยา จันทรวิถี

พญ.กิติยา จันทรวิถี

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ. ลิขิต กำธรวิจิตรกุล

ศัลยเเพทย์ออร์ปิดิกส์