บำบัดรักษาโรคมะเร็ง ด้วยการฉายรังสีรักษา หรือ การฉายแสง คืออะไร
“โรคมะเร็ง” เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนทั่วโลก ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน ทำให้มีแนวทางการรักษามะเร็งที่หลากหลายเพื่อเพิ่มโอกาสในการหายจากโรคมะเร็งยืดอายุผู้ป่วย รวมถึงลดความเจ็บปวด และมีผลข้างเคียงของการรักษาลดลง แนวทางการรักษามะเร็งในปัจจุบันแบ่งออกเป็นหลายวิธีหลัก ได้แก่ การผ่าตัด ฉายรังสีรักษา หรือ การฉายแสง การให้เคมีบำบัด การใช้ยามุ่งเป้า และ อื่น ๆ หรืออาจจะต้องใช้หลายวิธีร่วมกันในการรักษา ซึ่งแต่ละวิธีนั้นมีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน และการเลือกวิธีรักษายังมีปัจจัยอีกหลายอย่างทั้งชนิดและตำแหน่งของมะเร็ง ระยะของโรค สภาพความพร้อมของผู้ป่วยอีกด้วย ซึ่งในบทความนี้ (แพทย์หญิง สุภัชชา เขียวหวาน) จากโรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ ได้รวบรวมความรู้เกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็ง ด้วยการฉายรังสีรักษา หรือ การฉายแสงเพื่อให้ทุกท่านเข้าใจมากขึ้น และสำหรับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาได้มีการเตรียมตัวการดูแลตัวเองทั้งก่อนเข้ารับการรักษาและหลังการรักษา
การรักษาด้วยฉายรังสี หรือ การฉายแสงคืออะไร
การรักษาด้วยการฉายรังสีรักษา หรือ การฉายแสง (Radiotherapy) เป็นวิธีการใช้รังสีพลังงานสูงฉายไปทำลายเนื้องอกทั้งชนิดเซลล์มะเร็ง และไม่ใช่เซลล์มะเร็ง ผลจากการได้รับรังสีนั้นจะเกิดได้กับเซลล์ปกติและเซลล์ที่ผิดปกติ ในเซลล์ปกติจะสามารถซ่อมแซมส่วนที่เสียหายจากรังสีได้ โดยเซลล์สามารถมีชีวิตอยู่รอดและเจริญเติบโตต่อไปได้ ในส่วนของเซลล์ที่ผิดปกตินั้นจะสะสมความผิดปกติของยีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ไม่สามารถซ่อมแซมส่วนที่เสียหายจากรังสีได้และเซลล์นั้นก็จะตายลง ซึ่งคนไข้แต่ละรายจะใช้ปริมาณรังสีไม่เท่ากัน จำนวนครั้งการฉายไม่เท่ากัน และเทคนิคไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง ชนิดของมะเร็ง และสภาพร่างกายของคนไข้แต่ละท่าน
รังสีรักษา หรือ การฉายแสงเพื่อทำลายดีเอ็นเอ (DNA) ของเซลล์มะเร็งมีจุดประสงค์ 2 อย่างสำคัญคือ
- เพื่อให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรค ใช้ปริมาณรังสีที่สูงที่สุดเพื่อให้รังสีไปทำลายเซลล์มะเร็ง และมีผลข้างเคียงที่น้อยที่สุด
- การรักษาแบบประคับประคอง ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าการรักษาเพื่อหายขาดเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดจากมะเร็ง และทำให้ผู้ป่วยรวมถึงคนรอบข้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในกรณีนี้มักเป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
ประเภทของการฉายรังสี
การรักษาด้วยการฉายรังสีรักษา หรือ การฉายแสง แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1. การฉายรังสีรักษาระยะไกลจากภายนอก (External beam radiotherapy) เป็นการฉายรังสีจากภายนอกไปยังอวัยวะของร่างกายที่เป็นมะเร็ง โดยมีหลักการคือบริเวณก้อนมะเร็งต้องได้รับปริมาณรังสีสูงที่สุด แต่ผลข้างเคียงต่ออวัยวะ อื่น ๆ จะต้องได้รับปริมาณรังสีน้อยที่สุด ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นวิธีการฉายรังสีที่พบได้มากที่สุดในงานทางรังสีรักษา
2. การฉายรังสีระยะใกล้ (Brachytherapy) เป็นการฝังแร่ ที่เป็นสารกัมมันตรังสีเข้าไปให้อยู่ใกล้กับบริเวณก้อนมะเร็ง เพื่อให้ปริมาณรังสีมีมากพอที่ก้อนมะเร็งที่ต้องการฉาย และปริมาณรังสีลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อห่างจากก้อนมะเร็ง เพื่อให้อวัยวะข้างเคียงได้รับรังสีในปริมาณที่น้อย และลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยก่อนจะใส่เข้าไปในร่างกายผู้ป่วยแพทย์จะวางแผนการรักษา คำนวณตำแหน่งและเวลาในการฉายรังสี ร่วมกับการใช้เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หรือ อัลตร้าซาวด์ ในการช่วยการระบุตำแหน่ง วิธีนี้มักใช้บริเวณที่สามารถใส่แร่และสามารถนำออกมาได้ เพื่อไม่ให้มีรังสีตกค้างในตัวผู้ป่วย เช่น ศีรษะและลำคอ บริเวณปากมดลูก ต่อมลูกหมาก เต้านม
ประสิทธิภาพของการฉายรังสี หรือ การฉายแสงในการรักษามะเร็ง
วิธีการฉายรังสี หรือ การฉายแสงเป็นวิธีที่พบได้บ่อย เพราะมะเร็งบางชนิดตอบสนองต่อการใช้รังสีหรือการฉายแสงได้ดี จึงทำให้สามารถใช้วิธีรังสีรักษาแทนการผ่าตัดได้ แต่ในมะเร็งบางชนิดตอบสนองต่อการรักษาด้วยรังสี หรือการฉายแสงได้ไม่ดี จึงใช้การรักษาร่วมทั้งก่อนหรือหลังผ่าตัด หรือให้ร่วมกับยาเคมีบำบัด
ในปัจจุบันเทคโนโลยีการใช้รังสีรักษาพัฒนาไปมาก ทำให้มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น และทำให้อวัยวะข้างเคียงได้รับผลกระทบน้อยลง ลดอาการข้างเคียงจากรังสีรักษาได้ดีขึ้น
ขั้นตอนการฉายรังสี หรือ การฉายแสง
ก่อนการฉายรังสี หรือ การฉายแสง แพทย์จะให้ผู้ป่วยเตรียมตัวจำลองการรักษาด้วยเครื่องจำลองการรักษา/เครื่องจำลองภาพ (CT Simulator) เพื่อกำหนดขอบเขตบริเวณของรังสีและเทคนิคที่จะให้การรักษาได้ถูกต้อง และถ่ายภาพเอ็กซเรย์เพื่อกำหนดขอบเขตบริเวณที่รักษา จากนั้นจะวาดเส้นขอบเขตลงบนผิวหนังของผู้ป่วย บริเวณศีรษะและใบหน้าอาจจะต้องทำหน้ากาก (Mask) เพื่อมิให้มีรอยขีดบนใบหน้า เวลาในการจำลองการรักษาจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที ถึง 1 ชั่วโมง โดยทั่วไป จะฉายรังสี วันละ 1 ครั้ง 5 วันต่อสัปดาห์ หยุดพัก 2 วัน แล้วเริ่มต้นใหม่ เพื่อให้เซลล์ส่วนปกติได้ซ่อมแซม เวียนไปจนครบปริมาณรังสีตามแพทย์กำหนด
การฉายรังสี หรือ การฉายแสงในการรักษามะเร็ง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของบริเวณที่ต้องการฉายรังสี
- บริเวณศีรษะและลำคอ : เพื่อรักษามะเร็งสมอง มะเร็งในโพรงจมูกและไซนัส มะเร็งหลังโพรงจมูก มะเร็งในช่องปาก มะเร็งในลำคอ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งต่อมน้ำลายและไทรอยด์เป็นต้น ในระหว่างการฉายแสงผู้ป่วยจะโดนจัดตำแหน่งบริเวณศีรษะถึงลำคอให้อยู่นิ่งกับที่ นักรังสีจะใช้เวลาฉายประมาณ 2-10 นาที ขึ้นอยู่กับเทคนิคการฉาย โดยเวลาทั้งหมดของขั้นตอนนี้ประมาณ 15-30 นาที ทำการฉายติดต่อกันสัปดาห์ละ 5 วัน จำนวนครั้งในการฉายจะขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง และระยะของมะเร็ง
- บริเวณทรวงอก เพื่อรักษามะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งระบบน้ำเหลือง มะเร็งเต้านมเป็นต้น ในระหว่างการฉายแสงผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่ง ๆ เพื่อไม่ให้ตำแหน่งในการฉายรังสีคลาดเคลื่อน ผู้ป่วยสามารถหายใจได้ตามปกติ โดยนักรังสีใช้เวลาฉายประมาณ 2-10 นาที ใช้เวลาของขั้นตอนทั้งหมดประมาณ 20-30 นาที จำนวนครั้งในการฉายจะขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง และระยะของมะเร็ง
- บริเวณช่องท้อง เพื่อรักษามะเร็งที่กระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งไต และมะเร็งระบบน้ำเหลืองในช่องท้อง ในระหว่างการฉายแสงผู้ป่วยต้องนอนอยู่นิ่ง ๆ ท่าตรง หายใจตามจังหวะปกติ นักรังสีใช้เวลาฉายประมาณ 2-10 นาที ใช้เวลาของขั้นตอนทั้งหมดประมาณ 20-30 นาที จำนวนครั้งในการฉายจะขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง และระยะของมะเร็งเช่นกัน
- บริเวณท้องน้อย เพื่อรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งมดลูก มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งต่อมลูกหมาก ในระหว่างการฉายแสงผู้ป่วยต้องนอนในท่าตรง นิ่ง ๆ หายใจตามจังหวะปกติ นักรังสีทำการฉายรังสีในบริเวณที่วางแผนไว้ ในบางรายผู้ป่วยจำเป็นต้องดื่มน้ำมาก ๆ และกลั้นปัสสาวะไว้ก่อนเพื่อลดผลข้างเคียงที่จะเกิดกับลำไส้เล็ก ยกเว้นผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะจะต้องปัสสาวะก่อนการฉายรังสี ในขั้นตอนการฉายรังสีใช้เวลาฉายประมาณ 2-10 นาที ใช้เวลาของขั้นตอนทั้งหมดประมาณ 20-30 นาที จำนวนครั้งในการฉายจะขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง และระยะของมะเร็ง
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการฉายแสง
- รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เช่น โปรตีนจากสัตว์ ปลา ไข่ นม ผัก ผลไม้ ฯลฯ ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งมักได้รับผลข้างเคียงจากการรักษาทำให้รู้สึก อ่อนเพลีย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร การรับรสอาหารเปลี่ยนไป ทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง เสี่ยงติดเชื้อง่ายขึ้น
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 8 ชั่วโมง/วัน เพราะการนอนหลับเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายปรับสมดุล และซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ
- ลดการสัมผัสกับสารพิษ ควรล้างมือให้สะอาด และลดการได้รับสารพิษจากอาหาร โดยล้างผักผลไม้ให้สะอาด อาหารต้องปรุงสุก สะอาด รวมถึงลดการสัมผัสสารพิษในสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น PM 2.5
- ดูแลรักษาความสะอาดทั่วไปของร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า
การดูแลตัวเองหลังเข้ารับการฉายรังสี
- ห้ามลบเส้นบริเวณที่ฉายรังสีที่แพทย์ขีดไว้ เพราะถ้าเส้นลบแพทย์จะต้องขีดใหม่ ทำให้เสียเวลาในการรักษา
- ผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี ควรล้างด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำสบู่ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม และควรใช้ผ้าเช็ดตัวที่ อ่อนนุ่มซับบริเวณที่ฉายรังสี หลีกเลี่ยงการขัดถู
- ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณศีรษะ อาจมีอาการผมร่วง ไม่ควรสระผม ถ้ารู้สึกคันศีรษะ อาจใช้น้ำมันมะกอกทา ส่วน อาการผมร่วง ผมจะขึ้นใหม่ได้ภายหลังการรักษาสิ้นสุดแล้ว 2-3 เดือน
- ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณลำคอ ผิวหนังอาจมีสีแดง แห้งตึง เกิดอาการคัน ดำคล้ำ และตกสะเก็ด หรือแตกเป็นแผล ห้ามถู แกะ เกา
- หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดจัด หรือการสัมผัสบริเวณที่ฉายรังสีโดยตรงกับความร้อนหรือความเย็น หากต้องโดนแดดให้ทาครีมกันแดดป้องกันโดยใช้ SPF 30% ขึ้นไป
- ห้ามวางกระเป๋าน้ำร้อน น้ำแข็งบริเวณที่ฉายรังสี ห้ามปิดพลาสเตอร์ ทายาหม่อง บริเวณที่ฉายรังสี
- หลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอม แป้ง โลชั่น เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
ผลข้างเคียงของการฉายรังสี
ผลข้างเคียงจากการรักษาพบได้แต่เริ่มเข้ารับการฉายรังสี ไปจนถึงภายใน 8 สัปดาห์หลังการฉายรังสี ซึ่งจะเกิดขึ้นในบริเวณที่ได้รับรังสี เช่น การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง ผิวหนังแห้งตึง ดำคล้ำ เกิดอาการคัน บริเวณศีรษะมีผมร่วง เกิดอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ภูมิต้านทานต่ำจากเม็ดเลือดขาวลดจำนวนลง เป็นต้น ผลข้างเคียงเรื้อรัง มักเกิดขึ้นหลังได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสีเสร็จสิ้นไปแล้วนานหลายเดือนจนถึงหลายปี เกิดจากการฉายรังสีทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะ ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดฝอย เช่น ถ้าฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกรานจะมีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือลำไส้อักเสบแบบเรื้อรัง
การฉายรังสี vs. การรักษามะเร็งประเภทอื่น ๆ
การฉายรังสีเป็นการใช้รังสีพลังงานสูงสามารถทำลายเซลล์ได้ถึงระดับ DNA ฉายไปทำลายเซลล์มะเร็ง เพื่อหลีกเลี่ยงการผ่าตัดโดยเฉพาะในมะเร็งที่ตอบสนองดีต่อรังสี และในบางครั้งแพทย์พิจารณาการฉายรังสีเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด หรือภาวะเร่งด่วนบางอย่างจากมะเร็ง หากรักษาล่าช้าไปอาจเกิดผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ แต่ในมะเร็งบางชนิดการฉายรังสีอย่างเดียวอาจจะไม่พอ หรือมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ทำให้ต้องพิจารณาการรักษาด้วยวิธีอื่นควบคู่กันไปด้วย ทั้งการรักษาร่วมก่อน-หลังผ่าตัด หรือให้ร่วมกับยาเคมีบำบัด
ทั้งนี้การรักษาโรคมะเร็งในแต่ละชนิดมีความจำเพาะเจาะจงสูง ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาและวางแผนการรักษากับแพทย์เฉพาะทางอย่างละเอียด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีที่สุดและมีโอกาศหายจากโรคมะเร็ง หรือลดผลค้างเคียงจากมะเร็งได้เยอะที่สุด
คำถามที่พบบ่อยเรื่องการฉายแสงกับผู้ป่วยมะเร็ง
Q : ฉายแสงกี่ครั้ง
A : ขึ้นกับชนิดของโรคและแผนการรักษาของแพทย์ โดยช่วงเวลาฉายนั้นจะทำสัปดาห์ละ 5 วัน หยุด 2 วัน ฉายแสงติดต่อกันทั้งสิ้นประมาณ 4-8 สัปดาห์
Q : ฉายแสงครั้งละกี่บาท
A : ค่าบริการ การฉายแสงขึ้นอยู่กับวิธีการที่เลือกใช้ และชนิดของมะเร็ง
Q : ฉายแสงมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง
A : การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง ผิวหนังแห้งตึง ดำคล้ำ เกิดอาการคัน บริเวณศีรษะมีผมร่วง เกิดอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ภูมิต้านทานต่ำจากเม็ดเลือดขาวลดจำนวนลง อาการไอ เจ็บคอ เยื่อบุภายในช่องปากอักเสบ ซึ่งเป็นอาการชั่วคราวเกิดระหว่างฉายรังสี
Q : ฉายแสงแล้วผมจะร่วงไหม
A : หากฉายแสงบริเวณศีรษะ อาจทำให้ผมร่วง แต่ผมจะขึ้นใหม่ได้ภายหลังการรักษาสิ้นสุดแล้ว 2-3 เดือน
Q : หลังฉายแสงอาบน้ำได้ไหม
A : สามารถอาบน้ำได้ แต่อุณหภูมิน้ำต้องไม่ร้อน ไม่เย็นเกินไป แรงดันน้ำต้องไม่สูง และต้องเช็ดตัวอย่างเบามือ
Q : ค่าใช้จ่ายในการฉายแสง
A : ค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง รวมถึงวิธีที่เลือกใช้ และจำนวนของการฉายแสง ซึ่งค่าใช้จ่ายโดยปกติอยู่ที่ 300,000 - 900,000 บาท
ศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ
สามารถดูแลผู้ป่วยได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและระยะสุดท้าย ให้บริการแบบครบวงจร โดยมีเป้าหมายให้บริการรักษามะเร็งและรังสีรักษา ที่มีมาตรฐานสากลเพื่อชาวศรีสะเกษและพื้นที่ใกล้เคียง ให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมในราคาที่เข้าถึงได้ พร้อมให้บริการตั้งแต่
- การตรวจวินิจฉัย (Diagnosis)
- ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งทุกชนิด (Cancer Screening)
- การรักษาด้วยรังสีรักษา (Radiation therapy)
- รักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)
- รักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy)
- รักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
- การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative Care)
อย่างไรก็ตามการรักษามะเร็งนั้นอาจเป็นวิธีการฉายแสงวิธีเดียวหรือหลายวิธีร่วมกับวิธีอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ชนิดของเซลล์มะเร็ง สภาพร่างกายของผู้ป่วย รวมไปถึงอายุและสุขภาพผู้ป่วยร่วมด้วย ซึ่งโรคมะเร็งมีโอการักษาให้หายขาดได้ หากรู้ตัวเร็ว และรักษากันตั้งแต่ต้น
แพทย์หญิง สุภัชชา เขียวหวาน (แพทย์เฉพาะทางมะเร็ง โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ)
ข้อมูล ณ เดือน พฤศจิกายน 2567
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ
สถานที่
เวลาทำการ
เบอร์ติดต่อ
045-96-8888