Header

ยามุ่งเป้า นวัตกรรม และทางเลือกใหม่เพื่อการรักษาผู้ป่วยมะเร็งแบบเฉพาะเจาะจง

นพ.ธนา ปฏิมารัตนานันท์ นพ.ธนา ปฏิมารัตนานันท์

รักษามะเร็งด้วยยามุ่งเป้า - โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ

ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ซึ่งยับยั้งการส่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องต่อการเจริญเติบโต และการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง 

ทำความรู้จัก "ยามุ่งเป้า" นวัตกรรม และทางเลือกใหม่เพื่อการรักษาผู้ป่วยมะเร็งแบบเฉพาะเจาะจง

   มะเร็ง เป็นอีกหนึ่งสาเหตุในการเสียชีวิตอันดับต้นๆ แต่รู้หรือไม่ว่าความจริงเป็นโรคที่รู้ตัวเร็วก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งกันก่อนครับ ซึ่งมะเร็งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในอวัยวะ ทำให้มีการเจริญเติบโต มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์อย่างรวดเร็วกว่าระดับปกติ จึงทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อผิดปกติ และในที่สุดก็เกิดการแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่นในร่างกายได้ทุกส่วน ซึ่งมะเร็งมีมากกว่า 100 ชนิด และแต่ละชนิดก็มีการกำเนิดที่แตกต่างกันออกไปดังนั้นการรักษาจึงแตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกันขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็นจุดเกิด และชนิดของเซลล์มะเร็ง 

 

การรักษาด้วยการใช้ ยามุ่งเป้า คืออะไร?

   การรักษามะเร็งด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด หรือที่คุ้นหูกันว่าการรักษาด้วย ยาคีโม (Chemotherapy) เป็นหนึ่งในวิธีการรักษามะเร็งที่ใช้นิยมกันมาอย่างยาวนาน เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง และถึงแม้จะเป็นการรักษาที่ได้ผลที่ดีแต่ก็ยังมีผู้ป่วยหลายคนยังกังวลถึงผลข้างเคียงหลังใช้ แต่ถึงแบบนั้นการรักษานี้ก็ยังมีผู้ป่วยเพียงแค่บางกลุ่มที่สามารถรับการรักษาในระยะยาวได้ ซึ่งปัจจุบันการที่แพทย์ก้าวกระโดดไปไกลมากจนได้เกิดการคิดค้น “ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy)” ที่เป็นตัวยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็งโดยตรง โดยยับยั้งกระบวนการเฉพาะที่ทำให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้ทำให้มีผลข้างเคียงน้อยกว่าและมีความจำเพาะต่อเซลล์มะเร็งมากขึ้น ทำให้มีการตอบสนองในการรักษาสูง และมีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติน้อยกว่ายาเคมีบำบัด

   การรักษามะเร็งแบบ ยามุ่งเป้า คือ การให้ยาเข้าไปขัดขวางการทำงานของโมเลกุลสัญญาณมะเร็ง ถือเป็นวิธีที่ดีกว่าเดิม เพราะยาจะไม่ได้กำกัดเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายเหมือนยาเคมีบำบัดทั่วไป แต่เป็นการจับโมเลกุลสัญญาณมะเร็งโดยตรงเพื่อให้มันหยุดการทำงาน ไม่สามารถกระตุ้นเซลล์มะเร็งได้ ทำให้เซลล์มะเร็งหยุดเจริญเติบโต

 

การใช้ยามุ่งเป้าเหมาะกับระยะไหน?

   การรักษาด้วยยามุ่งเป้าสามารถให้ใช้ได้ในระยะแพร่กระจาย โดยจำเป็นต้องให้แพทย์ทำการตรวจเลือด หรือ ตรวจชิ้นเนื้อมะเร็ง หากพบโมเลกุลสัญญาณมะเร็งก็สามารถให้ยามะเร็งแบบมุ่งเป้าแก่ผู้ป่วยรายนั้นได้

 

ประเภทของยามุ่งเป้าในการรักษามะเร็ง

การรักษาด้วยการใช้ยามุ่งเป้าในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งจะมี 2 รูปแบบคือ

  •  ยากิน (Tyrosine kinase inhibitors) 

  •  ยาฉีด (monoclonal antibody)

ทั้งนี้ในมะเร็งชนิดเดียวกัน ในผู้ป่วยคนละคนอาจมีการรักษาแบบมุ่งเป้าไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจมีการใช้เป็นการรักษาด้วยยากลุ่มนี้เพียงชนิดเดียว หรือ ร่วมกับยาอื่น เช่น ยาเคมีบำบัด ยาภูมิคุ้มกันบำบัด และรังสีรักษา เป็นต้น

 

 

มะเร็งแบบไหนใช้ยาแบบไหน อย่างไร?

การรักษามะเร็งแต่ละชนิด ที่มีความผิดปกติที่แตกต่างกัน ยามุ่งเป้าที่ใช้จึงต้องสอดคล้องกับชนิดของมะเร็งนั้น ๆ และระยะของการแพร่กระจาย ยกตัวอย่างเช่น

   มะเร็งเต้านม : หากเซลล์มะเร็งมีโปรตีน HER2 มากเกินไป จะใช้ยาที่มุ่งเป้า HER2 เช่น Trastuzumab หรือ Pertuzumab เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม 
แต่หากในกรณีที่มีเอสโตรเจนหรือโปรเจสเตอโรนสูง อาจใช้ยาเช่น Tamoxifen หรือ Aromatase Inhibitors เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่ขึ้นกับฮอร์โมน

   มะเร็งปอด : ยามุ่งเป้าที่ใช้ในการรักษามะเร็งปอดมักจะมุ่งเป้าไปยังการยับยั้งตัวรับ EGFR หรือ ALK ซึ่งเป็นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งปอดชนิดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก จะใช้ยา Erlotinib หรือ Osimertinib เพื่อลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
หากมีการกลายพันธุ์ของยีน ALK หรือ ROS1 ยาที่เหมาะสมคือ Crizotinib หรือ Ceritinib และกรณีที่มีการกลายพันธุ์ของยีน KRAS อาจใช้ยา Sotorasib

   มะเร็งลำไส้ใหญ่ : ยามุ่งเป้าที่ใช้ในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ มักจะมุ่งเป้าไปยังตัวรับ EGFR หรือ VEGF ซึ่งเป็นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหลอดเลือดเลี้ยงเนื้องอก 
โดยมะเร็งที่มี EGFR สูงจะใช้ยา Cetuximab หรือ Panitumumab เพื่อยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง หากมีการกลายพันธุ์ในยีน BRAF จะใช้ยา Encorafenib ร่วมกับยาอื่น ๆ

   มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง : มักใช้ยามุ่งเป้าไปที่เอนไซม์ Tyrosine Kinase เช่น Imatinib, Dasatinib หรือ Nilotinib เพื่อลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง

   มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา : หากพบการกลายพันธุ์ของยีน BRAF จะใช้ยามุ่งเป้า เช่น Vemurafenib หรือ Dabrafenib ร่วมกับ Trametinib เพื่อยับยั้งการเติบโตของเซลล์เมลาโนมา

 

การรักษามะเร็งด้วยยามุ่งเป้าเหมาะกับใครบ้าง?

   นวัตกรรมทางเลือกใหม่ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ด้วยยามุ่งเป้าสามารถรักษามะเร็งได้หลายชนิด ทั้งในระยะเริ่มและในระยะแพร่กระจาย คือ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านมะเร็งตับ มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

 

ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยยามุ่งเป้า

ผลข้างเคียงของยามุ่งเป้าจะแตกต่างกันไปตามชนิดของยา และความรุนแรงในแต่ละบุคคล โดยทั่วไปแล้วจะมีความรุนแรงน้อยกว่ายาเคมีบำบัด ซึ่งผลข้างเคียงที่พบบ่อย ดังนี้

  • ผิวแห้ง ผื่น คัน 
  • เยื่อบุในช่องปาก และช่องคออักเสบ
  • จำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ แผลหายช้า
  • ท้องเสีย ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร 
  • สีหรือลักษณะเส้นผมเปลี่ยนไป
  • อาการอ่อนเพลีย
  • ความดันโลหิตสูง

 

ข้อดีและข้อเสียของการรักษามะเร็งด้วยยามุ่งเป้า

การรักษามะเร็งด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ที่เข้ามาเป็นหนึ่งในทางเลือกในการรักษามะเร็งที่ได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดข้อดีและข้อเสียที่ยังควรต้องพิจารณา ดังนี้

1. ข้อดีของการใช้ยามุ่งเป้ารักษามะเร็ง การรักษามะเร็งด้วยยามุ่งเป้ามีข้อดี คือ

  • ประสิทธิภาพในการรักษาที่สูงขึ้น ช่วยเพิ่มอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งบางชนิดได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีความจำเพาะสูงสามารถควบคุมโรคมะเร็งได้ยาวนานกว่า และมีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติน้อยกว่าการใช้ยาเคมีบำบัด หรือคีโม (Chemotherapy) 
  • การพัฒนาตามชนิดของมะเร็ง เนื่องจากยามุ่งเป้าสามารถพัฒนาให้สอดคล้องกับชนิดและการกลายพันธุ์ของมะเร็งในผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาที่แม่นยำยิ่งขึ้น
  • เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย เนื่องจากยามุ่งเป้าทำให้ผู้ป่วยมีผลข้างเคียงน้อยลง และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดีกว่า
  • ผลข้างเคียงน้อยกว่ารักษาด้วยเคมีบำบัด

2. ข้อเสียหากใช้ยามุ่งเป้า การรักษามะเร็งด้วยยามุ่งเป้ามีข้อเสีย คือ 

  • มีผลกับเซลล์บางชนิดเท่านั้น ไม่ใช่ทุกคนจะตอบสนองต่อยามุ่งเป้า ขึ้นอยู่กับความผิดปกติทางพันธุกรรมของเซลล์มะเร็ง และระยะการแพร่กระจาย
  • เซลล์มะเร็งบางชนิดเกิดการดื้อยา ทำให้ไม่สามารถควบคุมการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ในระยะยาว จำเป็นต้องใช้ยาอื่นหรือการรักษาเสริม
  • ผลข้างเคียงที่ยังพบได้ เช่น ผื่นคัน ท้องเสีย ความดันโลหิตสูง อ่อนเพลีย แต่ยังคงน้อยกว่าการรักษาด้วยเคมีบำบัด
  • มีราคาค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง 

 

กระบวนการรักษาด้วยยามุ่งเป้า

การรักษาด้วยยามุ่งเป้า เป็นการรักษามะเร็งที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง โดยจะมุ่งเป้าไปยังเซลล์มะเร็งโดยตรง ทำให้มีผลข้างเคียงน้อยกว่าวิธีการรักษาแบบอื่นๆ ต้องมีการวางแผนการดูแลอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งกระบวนการรักษาโดยทั่วไปประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้

1. การเตรียมตัว

  • ตรวจสุขภาพทั่วไป : เพื่อประเมินสภาพร่างกายก่อนรับการรักษา ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็งอาจส่งผลกระทบต่ออารมณ์และจิตใจ 

  • การตรวจวินิจฉัย : เป็นการตรวจวิเคราะห์ทางพันธุกรรมก่อนการเริ่มรักษาด้วยยามุ่งเป้า ซึ่งแพทย์จะตรวจชิ้นเนื้อจากเนื้องอก หรือเลือดของผู้ป่วยเพื่อค้นหายีน โปรตีน หรือเป้าหมายเฉพาะที่แสดงผลชัดเจนในเซลล์มะเร็ง เพื่อหาความผิดปกติทางพันธุกรรมของเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะช่วยในการเลือกใช้ยามุ่งเป้าที่เหมาะสม

  • การประเมินสุขภาพโดยรวม : แพทย์จะตรวจสุขภาพและประวัติการรักษาที่ผ่านมา เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงพอที่จะรับการรักษาด้วยยามุ่งเป้า และจะวางแผนการดูแลผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

  • วางแผนการรักษา : แพทย์จะนำข้อมูลที่ได้จากการตรวจวินิจฉัย และผลการตรวจทางพันธุกรรม มาวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุด โดยอาจรวมถึงการใช้ยามุ่งเป้าร่วมกับการรักษาอื่น ๆ เช่น การผ่าตัด เคมีบำบัด หรือรังสีรักษา

2. วิธีการใช้

  • การกินยา : ยามุ่งเป้าบางชนิดมาในรูปแบบยาเม็ด ผู้ป่วยสามารถรับประทานได้ทางปากที่บ้านตามที่แพทย์สั่งได้

  • การฉีด : ยามุ่งเป้าบางชนิดต้องฉีดเข้าเส้นเลือดดำ หรือกล้ามเนื้อ โดยแพทย์จะกำหนดช่วงเวลาในการฉีด เช่น ทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน ขึ้นอยู่กับชนิดของยาและแผนการรักษา

  • วิธีการใช้ การจัดการผลข้างเคียง : อาจมีวิธีการให้ยาอื่น ๆ อย่างละเอียด การเกิดผลข้างเคียง เช่น การใช้ยาทา หรือการใส่แคปซูลยา การดูแลผิวหนัง หรือการรับประทานอาหารที่เหมาะสม

3. ระยะเวลาการรักษา
   ระยะเวลาในการรักษาด้วยยามุ่งเป้าจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิด และระยะของมะเร็ง รวมถึงปฏิกิริยาการตอบสนองของผู้ป่วย ซึ่งในกรณีที่การตอบสนองดีอาจเป็นระยะสั้นได้


4. การติดตามผล

   การติดตามผลการรักษาแพทย์จะมีการนัดหมาย เพื่อตรวจติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ เช่น การตรวจเลือด เพื่อตรวจสอบระดับยาในเลือดและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น การตรวจภาพจาก CT scan หรือ MRI เพื่อประเมินขนาดของก้อนมะเร็งและการตอบสนองต่อการรักษา และการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมตามความเหมาะสม เช่น การตรวจ PET-CT รวมถึงการประเมินผลข้างเคียง ว่าผู้ป่วยมีผลข้างเคียงใดเกิดขึ้นบ้างหรือไม่

 

ข้อดีและข้อเสียของการผ่าตัดมะเร็ง

   การรักษาของการผ่าตัดมะเร็ง ที่เป็นหนึ่งในวิธีหลักในการรักษามะเร็ง ซึ่งมีข้อดีและข้อเสียที่ควรพิจารณา ขึ้นอยู่กับชนิด ระยะของมะเร็ง และสภาพความแข็งแรงของร่างกายของผู้ป่วยอีกด้วย

- ข้อดีของการรักษาด้วยการผ่าตัด

การรักษามะเร็งด้วยการผ่าตัดมีข้อดี คือ สามารถนำก้อนมะเร็งที่มองเห็นออกได้ทั้งหมด ทำให้มีโอกาสที่มะเร็งจะกลับมาเป็นซ้ำน้อยที่สุด ทำได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นที่ยังไม่มีการลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งบางกรณีการผ่าตัดอาจช่วยรักษาให้หายขาดได้


- ข้อเสียหากใช้การผ่าตัดรักษามะเร็ง

การรักษามะเร็งด้วยการผ่าตัดมีข้อเสีย คือ มีความเสี่ยงจากการผ่าตัด อาจเกิดจากการดมยาสลบ การติดเชื้อ การสูญเสียเลือด หรือภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด เป็นต้น นอกจากนั้นหลังการผ่าตัดอาจต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน ทำให้ผู้ป่วยบางคนอาจมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวอีกด้วย

 

การใช้ยามุ่งเป้า vs. การรักษามะเร็งประเภทอื่นๆ

   โรคมะเร็งเป็นหนึ่งในโรคที่พบได้มากอันดับต้นๆ จึงได้เกิดค้นคว้ามาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตทำให้ในปัจจุบัน การรักษามะเร็งมีหลากหลายรูปแบบ ช่วยให้ผู้ป่วยมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งแต่ละวิธีมีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) เป็นวิธีการรักษามะเร็งที่มีความเฉพาะเจาะจงสูง ซึ่งมีการมุ่งเป้าไปยังเซลล์มะเร็งโดยตรง โดยเข้าไปยับยั้งกระบวนการทำงานที่ผิดปกติภายในเซลล์มะเร็ง ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในบางชนิดของมะเร็ง มีผลข้างเคียงน้อยกว่าเคมีบำบัด และสามารถใช้ร่วมกับวิธีการรักษาอื่นๆ ได้
  • การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgery) ที่เป็นวิธีการรักษาแบบดั้งเดิมที่ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงอีกหนึ่งวิธี ที่เป็นการกำจัดก้อนมะเร็งออกจากร่างกายโดยตรง เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง แต่หากอยู่ระยะที่มีการลุกลามจำเป็นต้องใช้วิธีอื่นด้วยเช่นกัน 
  • การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นวิธีการรักษาโดยใช้ยาเพื่อทำลายเซลล์ที่แบ่งตัวเร็วอย่างเซลล์มะเร็ง เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระยะลุกลาม แต่อาจพบผลข้างเคียงรุนแรงได้ เช่น ผมร่วง คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย
  • การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) วิธีการรักษาการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยต่อสู้กับเซลล์มะเร็งโดยตรง ช่วยลดโอกาสที่มะเร็งจะกลับมาเกิดซ้ำ แต่สามารถทำได้แค่ในบางรายเท่านั้น
  • รังสีรักษา (Radiation Therapy) เป็นการใช้หลักการทำงานของรังสีที่พลังงานสูงทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งเหมาะสำหรับการกำจัดเซลล์มะเร็งในระยะเริ่มต้น

 

คำถามที่พบบ่อยเรื่องการใช้ยามุ่งเป้ากับผู้ป่วยมะเร็ง 

1. หายขาดหรือไม่
   การตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะ และสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยเองด้วย
2. ระยะเวลาการรักษา
   ระยะเวลาในการรักษามะเร็งนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างตามระยะที่ตรวจพบ และวิธีการรักษา
3. ผลข้างเคียง
   ผลข้างเคียงจากการรักษา จะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง วิธีการรักษา และสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล แต่การรักษาที่พบอาการข้างเคียงได้น้อยที่สุด คือ การใช้ยามุ่งเป้า  
4. โอกาสในการกลับมาเป็นซ้ำ
   หลังจบการรักษาลงแล้ว ในบางชนิดอาจมีการกลับมาเป็นซ้ำ โดยเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่ อาจหลบซ่อนตัวอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ดังนั้นผู้ป่วยเองจำเป็นต้องดูแลตัวเองอยู่ต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ 
5. ความสำเร็จในการรักษา
   การรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันถือว่ามีความก้าวหน้าไปสูงมาก ทำให้มีวิธีการรักษาที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ป่วยมะเร็งหลายราย สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

ศูนย์มะเร็ง PSSK

ศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ เปิดให้บริการศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา รพ.พริ้นซ์ ศรีสะเกษในช่วงมกราคม 2568 นี้ ให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย (Diagnosis)


บริการการรักษาของศูนย์

  1. การรักษาด้วยรังสีรักษา (Radiation therapy) การใช้รังสีพลังงานสูงฉายตรงไปที่ตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง เพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้นๆ โดยการฉายแสงจะส่งผลให้เซลล์มะเร็งที่ได้รับรังสีมีการเปลี่ยนแปลงในระดับยีน

  2. รักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) วิธีการรักษามะเร็งด้วยกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งในร่างกาย พร้อมทั้งยับยั้งไม่ให้เซลล์มะเร็งแบ่งตัว เติบโต แพร่กระจาย และตายลงในที่สุด การให้คีโม ช่วยกำจัดเซลล์มะเร็ง ลดจำนวนเซลล์มะเร็ง และป้องกันการเป็นซ้ำ

  3. รักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ซึ่งยับยั้งการส่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องต่อการเจริญเติบโต และการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ทำให้มีการตอบสนองในการรักษาสูง สามารถควบคุมโรคมะเร็งได้ยาวนานกว่า

  4. การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative Care)  บริการดูแลที่มีมุ่งเน้นในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว โดยลดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ เป็นการดูแลควบคู่กับการรักษาหลักที่มุ่งหวังกำจัดตัวโรค

     มีเป้าหมายให้บริการรักษามะเร็งและรังสีรักษา ที่มีมาตรฐานสากลเพื่อชาวศรีสะเกษและพื้นที่ใกล้เคียง ให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อเดินหน้ายกระดับการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ ด้วยการเปิดศูนย์มะเร็งและรังสีรักษาแห่งแรกของจังหวัดศรีสะเกษ ถือเป็นการร่วมกับภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในพื้นที่อย่างครบวงจรและทันสมัยสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่มุ่งเน้นการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจนถึงระยะสุดท้าย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาค

 

นพ.ธนา ปฏิมารัตนานันท์ แพทย์เฉพาะทางมะเร็ง โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ
ข้อมูล ณ เดือน ตุลาคม 2567



แพทย์ประจำศูนย์

แผนกรังสีวิทยา

พญ.กฤติกา ทองอินทร์

รังสีวินิจฉัย

ศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา

แพทย์หญิง สุภัชชา เขียวหวาน

รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา

ศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา

นพ.ธนา ปฏิมารัตนานันท์

อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา

แพทย์แนะนำ

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

พญ.กิติยา จันทรวิถี

พญ.กิติยา จันทรวิถี

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ. ลิขิต กำธรวิจิตรกุล

ศัลยเเพทย์ออร์ปิดิกส์