แนวทางการรักษามะเร็งในปัจจุบัน ผ่าตัด ฉายแสง ใช้ยา มีแบบไหนบ้าง
“มะเร็ง” โรคร้ายที่คร่าชีวิตของคนไทยเป็นอันดับต้น ๆ พบได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ความน่ากลัวของโรคนี้คือกว่าที่เราจะรู้ตัวหรือมีอาการแสดงออกมาให้เห็นก็แทบจะระยะสุดท้าย ทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตในแต่ละปีสูงมากและยังคงเพิ่มเรื่อย ๆ
แต่โชคดีที่การรักษามะเร็ง ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างมาก และหากตรวจพบในระยะแรก ๆ ทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตที่สูงขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การรักษามะเร็งแต่ละชนิดและแต่ละระยะนั้น จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดและตำแหน่งของมะเร็ง ระยะของโรค สภาพร่างกายของผู้ป่วย และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง “(นพ.ธนา ปฏิมารัตนานันท์) จากโรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ” จึงได้รวบรวมความรู้เกี่ยวกับแนวทางการรักษามะเร็งในปัจจุบันมาฝากกันในบทความนี้
แนวทางการรักษามะเร็ง
1. การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือ คีโม (Chemotherapy)
เป็นการใช้ยาที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งหรือทำลายเซลล์มะเร็งเพื่อหยุดการแพร่กระจาย ของเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็ว และต่อเนื่อง ทั้งบริเวณต้นตอของเชื้อและที่ลุกลามกระจายไปตามต่อมน้ำเหลือง กระแสเลือดหรืออวัยะอื่น ๆ ของร่างกาย ทำให้เซลล์ไม่สามารถแบ่งตัวต่อไปได้และตายในที่สุด
การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือ คีโม สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การประทาน วิธีนี้จะช่วยให้การบริหารยาสะดวกมากขึ้น และลดการเข้าพักในโรงพยาบาล และวิธีการฉีดเข้าเส้นเลือด โดยการหยดร่วมกับสารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำ
ข้อดี : กำจัดเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลือง กระแสเลือดและอวัยวะในร่างกายได้ ลดการกระจายของเซลล์มะเร็ง
ข้อจำกัด : ไม่สามารถกำจัดก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ได้ เพราะยาเข้าไปไม่ทั่วถึงเซลล์มะเร็ง
- ดื้อยาเคมีบำบัด
- แม้จะออกฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งเป็นหลัก แต่ก็ทำลายเนื้อเยื่อดีด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่ทำให้คนไข้ไม่สุขสบายตัว
การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ด้วยเรื่องตำแหน่งของรอยโรค ระยะของโรค รวมถึงธรรมชาติของโรคนั้น วิธีนี้จึงเหมาะสำหรับใช้เป็นการรักษาเสริม ก่อนหรือหลังผ่าตัด หรือใช้ร่วมกับการฉายรังสีในมะเร็งระยะต้น เพื่อให้หายขาดจากโรคมะเร็ง
2. การรักษาด้วยการฉายรังสีรักษา หรือ การฉายแสง (Radiotherapy)
เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงสามารถทำลายเซลล์ได้ถึงระดับ DNA ฉายไปทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งการฉายแสงในแต่ละครั้ง เซลล์มะเร็งจะสะสมความผิดปกติของยีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ไม่สามารถซ่อมแซมส่วนที่เสียหายจากรังสีได้และเซลล์นั้นก็จะตายลง โดยแบ่งได้ 2 กลุ่มคือ การฉายรังสีรักษาระยะไกลจากภายนอก (External beam radiotherapy) การรักษาจากภายนอกไปยังอวัยวะของร่างกายที่เป็นมะเร็ง และ การฉายรังสีรักษาระยะใกล้ (Brachytherapy) ทำได้โดยการฝังแร่ หรือกินยาที่เป็นสารกัมมันตรังสีเข้าไปในก้อนมะเร็งโดยตรง หรือ ใกล้ ๆ กับก้อนมะเร็ง แล้วแร่หรือยานี้จะปล่อยกัมมันตรังสีไปทำลายเซลล์มะเร็งที่อวัยวะเป้าหมาย
ข้อดี : หลีกเลี่ยงการผ่าตัดโดยเฉพาะในมะเร็งที่ตอบสนองดีต่อรังสี
- เพิ่มการตอบสนองของยาเคมีบำบัดบางชนิดได้
- บรรเทาอาการปวดจากการลุกลามของมะเร็ง โดยเฉพาะเมื่อมะเร็งกระจายไปกระดูก
- บรรเทาภาวะเร่งด่วนบางอย่างจากมะเร็ง หากรักษาล่าช้าไปอาจเกิดผลต่อ คุณภาพชีวิต ทำให้เกิดทุพพลภาพตามมาได้ เช่น การอุดตันของท่อน้ำดี หรือมะเร็งลามกดทับไขสันหลัง
- บรรเทาภาวะเลือดออกจากก้อนมะเร็ง ในก้อนมะเร็งมีการสร้างเส้นเลือดผิดปกติทำให้มีเลือดออกได้ง่าย เช่น มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
ข้อจำกัด : บางช่วงชีวิตของเซลล์มะเร็งไม่ตอบสนองต่อรังสี ทำให้การฉายรังสีไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
- มะเร็งบางระยะอาจจะดื้อรังสี ทำให้การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร
มะเร็งบางชนิดตอบสนองต่อการฉายรังสีรักษา หรือ การฉายแสงได้ดีจึงสามารถใช้แทนการผ่าตัดได้ แต่บางชนิดตอบสนองไม่ดี หรือมะเร็งลุกลาม จึงต้องใช้การรักษาร่วมก่อน-หลังผ่าตัด หรือให้ร่วมกับยาเคมีบำบัดปัจจุบันเทคโนโลยีการใช้รังสีรักษาพัฒนาไปมาก ทำให้มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งมากขึ้น และทำให้เนื้อเยื่อข้างเคียงได้รับผลกระทบน้อยลง ลดอาการข้างเคียงจากรังสีรักษาได้ดีขึ้น
3. การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy)
เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง เพื่อยับยั้งกระบวนการส่งสัญญาณระดับเซลล์ ส่งผลยับยั้งการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ทำให้มีการตอบสนองในการรักษาสูง สามารถควบคุมโรคมะเร็งได้ยาวนานกว่า โดยสามารถรักษาได้ทั้งระยะเริ่มต้นและในระยะแพร่กระจาย ยามุ่งเป้าสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
- Small- molecule drugs เป็นยาที่มีขนาดโมเลกุลเล็กเป็นพิเศษ สามารถแทรกผ่านเยื่อหุ้มเซลล์มะเร็ง และทำลายเซลล์มะเร็งจะภายในได้
- Monoclonal antibodies เป็นโปรตีนสังเคราะห์ที่จะพุ่งเข้าไปจับกับเซลล์มะเร็งและทำให้เซลล์มะเร็งถูกทำลายหรือเติบโตต่อไปไม่ได้
ข้อดี : ส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติเพียงเล็กน้อย ผลข้างเคียงน้อยกว่าเคมีบำบัดหรือ คีโม (Chemotherapy)
ข้อจำกัด : วิธีนี้ใช้ได้กับมะเร็งบางชนิดเท่านั้น
การรักษาด้วยยามุ่งเป้าจะมีทั้งยาเม็ดและยาฉีดทางเส้นเลือด โดยสามารถรักษาโดยใช้ยามุ่งเป้าแบบเดียว หรือใช้ร่วมกับการใช้เคมีบำบัด การฉายรังสี หรือวิธีการรักษาแบบอื่น ๆ
4. การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
เป็นหนึ่งในการรักษามะเร็งแบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม โดยการให้ยาที่กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มีประสิทธิภาพในการต่อต้านเซลล์มะเร็งในร่างกาย โดยปกติแล้วร่างกายของเราจะมีเซลล์ที่ผิดปกติเหมือนกับเซลล์มะเร็งอยู่แล้ว แต่ด้วยกลไกของร่างกายสามารถทำให้เซลล์เหล่านั้นไม่พัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็ง หรือหากหลุดรอดไปได้ก็จะมีภูมิคุ้มกันของร่างกายมาทำลายเซลล์นี้ วิธีการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดจึงเป็นวิธีที่ใช้ภูมิคุ้มกันร่างกายของเราเองเข้าไปต่อสู้กับเซลล์มะเร็งโดยตรง ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยที่รับรองการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดในการรักษามะเร็งหลาย ๆ ชนิดและกลายเป็นมาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งอีกด้วย
ประเภทของภูมิคุ้มกันบำบัด
- การรักษาด้วยแอนติบอดี โดยตัวแอนติบอดีจะเข้าไปออกฤทธิ์ต่อต้านมะเร็ง
- การรักษาด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาว นำเซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยมาปรับแต่งแล้วฉีดกลับเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง
- การรักษาด้วยการฉีดวัคซีน แต่เป็นการฉีดวัคซีนเพื่อการรักษา ไม่ใช่เพื่อการป้องกัน โดยนำเซลล์ที่ผิดปกติมาผลิตวัคซีน แล้วฉีดกลับเข้าไป เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเม็ดเลือดขาว
ข้อดี : มีประสิทธิภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าการใช้เคมีบำบัด และมีผลข้างเคียงน้อยกว่า เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย
ข้อจำกัด : ใช้ได้กับมะเร็งบางชนิด และการวิจัยยังมีจำกัดอยู่
- ยามีราคาแพง และอาจจะได้ผลดีหรือเหมาะสำหรับคนไข้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น
การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง ในปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยที่รับรองการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัดในมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งตับและทางท่อน้ำดี มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งโพรงมดลูก และมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา เป็นต้น
5. การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Hematopoietic stem cell transplantation) หรือ การปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone marrow transplantation)
เป็นการรักษามะเร็งโดยการนำเอาเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตจากแหล่งกำเนิด คือ ไขกระดูก เลือด และเลือดจากสายสะดือและของรก มีทั้งการใช้เซลล์ต้นกำเนิดของตัวเอง หรือของบุคคลที่มีความเข้ากันได้ของระบบภูมิคุ้มกัน ข้อมูลในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังเป็นการรักษาโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งระบบเลือดอื่น ๆ หรือมะเร็งเซลล์สืบพันธุ์บางชนิด เป็นต้น เพื่อเข้าไปแทนที่เซลล์ที่ไม่แข็งแรงหรือเซลล์ที่ผิดปกติ
ข้อดี : การใช้สเต็มเซลล์เป็นแนวทางการรักษามะเร็งแบบใหม่ที่มีการวิจัยกันมาอย่างยาวนานช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และมีชีวิตที่ยืนยาว
ข้อจำกัด : ใช้ได้กับมะเร็งบางชนิดเท่านั้น และเซลล์มะเร็งยังไม่แพร่เข้าไปที่ไขกระดูก
6. การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgery)
เป็นวิธีการรักษามะเร็งเฉพาะที่ ยังไม่ลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง ปัจจุบันการผ่าตัดมีความก้าวหน้ามาก หลายอวัยวะสามารถผ่าตัดโดยไม่ทำให้เสียรูปทรง และหลีกเลี่ยงการสูญเสียอวัยวะนั้นไป เช่น มะเร็งเต้านม มีการผ่าตัดเฉพาะก้อน (Lumpectomy) ไม่ต้องตัดนมทั้งเต้า (Mastectomy) โดยรูปแบบการผ่าตัดที่นิยมใช้ในปัจจุบันแบ่งได้ดังนี้
- การผ่าตัดแบบทั่วไป เป็นการผ่าตัดเปิดเนื้อเยื่อ มักใช้กับการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนมาก ๆ
- การผ่าตัดแบบส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ลดความเจ็บปวด และฟื้นตัวได้เร็ว เหมาะกับมะเร็งระยะต้นถึงระยะปานกลาง ซึ่งทำได้ทั้งการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ และการผ่าตัดผ่านกล้องโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย (Robotic Assisted Laparoscopic Surgery) เพื่อรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
- การผ่าตัดแบบใช้ความเย็น (Cryoablation) เป็นการนำแท่งความเย็นแทงผ่านชั้นผิวหนังลงไปที่เซลล์มะเร็ง เหมาะกับมะเร็งตับ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งปอด ลดความเจ็บปวด และไม่ทำลายเส้นเลือดใหญ่
- การผ่าตัดโดยใช้เลเซอร์ (Photodiagnostic Therapy) เป็นการใช้สารเคมีร่วมกับแสงเลเซอร์เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งตาย แต่ไม่กระทบต่อเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้เคียง
ข้อดี : หากว่าเป็นมะเร็งในระยะแรก ๆ การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกจะเป็นวิธีการรักษาที่สามารถตัดก้อนมะเร็งออกได้ทั้งหมด และสามารถยับยั้งการแพร่กระจายของโรคได้
ข้อจำกัด : หากมีเซลล์มะเร็งที่กระจายไป หรือมองไม่เห็น จะยังไม่ได้รับการกำจัดออกร่างกาย ซึ่งจะทำให้กลายเป็นมะเร็งได้อีกครั้ง
- คนไข้ที่มีสภาวะร่างกายไม่พร้อมผ่าตัด
- มะเร็งที่มีขนาดใหญ่มาก หากผ่าตัดออกทั้งหมด อวัยวะที่เหลือไม่เพียงพอที่จะทำงานต่อได้
- บางตำแหน่งผ่าตัดได้ยาก และอาจสูญเสียการทำงานของอวัยวะนั้น ๆ เช่น มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลังโพรงจมูก เป็นต้น
แม้ว่าการผ่าตัดจะเป็นวิธีการรักษามะเร็งที่ได้ผลลัพธ์ดี แต่ก็มีผลข้างเคียงและสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วย ทำให้ในปัจจุบันมีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดให้แผลมีขนาดเล็กลง เจ็บปวดน้อยลง และฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
7. การรักษาที่เหมาะสมในมะเร็งแต่ละระยะ
มะเร็งแต่ละระยะมีอาการและขนาดแตกต่างกัน จะบอกความรุนแรงของโรค ซึ่งโดยทั่วไปมะเร็งจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ส่วนมะเร็งระยะศูนย์ (0) ยังไม่จัดเป็นโรคมะเร็ง เป็นการตรวจพบเซลล์ที่ผิดปกติ แต่ยังไม่มีการรุกราน (Invasive) เข้าเนื้อเยื่อข้างเคียง แต่หากปล่อยไว้เซลล์ผิดปกตินี้อาจจะกลายเป็นเซลล์มะเร็งในเวลาถัดมา
- ระยะที่ 1 มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อหรือแผลมะเร็งขนาดเล็ก ตั้งแต่ 3-5 เซนติเมตร สามารถเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือตาเปล่า มะเร็งระยะนี้จะยังคงอยู่ในอวัยวะที่เกิดมะเร็งเท่านั้น ยังไม่ลุกลาม มะเร็งระยะนี้ยังมีโอกาสรักษาหาย
- ระยะที่ 2 ลักษณะของก้อนเนื้อหรือแผลมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามภายในเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะใกล้เคียง
- ระยะที่ 3 มะเร็งระยะที่ 3 ลักษณะของก้อนเนื้อหรือแผลมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าระยะที่ 2 เริ่มลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ อวัยวะข้างเคียง และลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เนื้อเยื่อ หรืออวัยวะที่เป็นมะเร็ง
- ระยะที่ 4 มะเร็งระยะที่ 4 เป็นระยะลุกลามแพร่กระจาย (Metastasis) ลักษณะของก้อนเนื้อหรือแผลมะเร็งจะมีขนาดที่โตมาก อยู่ในช่วงลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง เช่น ช่องท้อง ตับ ลำไส้ ปอด หรืออาจแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ก้อนมะเร็ง โดยพบว่าต่อมน้ำเหลืองเป็นก้อนโตคลำได้
“ การรักษา ระยะที่ 1-3 คือการหายขาดจากโรคมะเร็ง ส่วนระยะที่ 4 จะรักษาเพื่อประคับประคองหรือควบคุมโรคไม่ให้ลุกลามมากขึ้น ”
ศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ
การเปิดศูนย์มะเร็งและรังสีรักษาแห่งแรกของจังหวัดศรีสะเกษ เป็นการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งในพื้นที่อย่างครบวงจร และด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและระยะสุดท้าย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวศรีสะเกษ และจังหวัดใกล้เคียงโดยมุ่งเน้นไปที่
1. การตรวจวินิจฉัยอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็งนั้น เป็นโรคที่ยากและซับซ้อนจึงจะต้องตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็วจึงมีเทคโนโลยีการตรวจที่ทันสมัย เช่น
- เครื่องฉายรังสี Vital Beam เป็นนวัตกรรมเครื่องฉายรังสีที่ใช้กระแสไฟฟ้าผลิตรังสีเอกซ์พลังงานสูงเพื่อให้ฉายรังสีแบบเจาะจงไปที่ตำแหน่งเซลล์มะเร็ง ทำลายก้อนมะเร็ง ในขณะที่เนื้อเยื่อข้างเคียงได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
- เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สําหรับจําลองการรักษา (CT-Simulator) เป็นเครื่องจําลองการรักษาที่สามารถสร้างภาพเป็น ลักษณะ 3 มิติเห็นการซ้อนทับของอวัยวะภายในร่างกายได้
- เครื่องดิจิทัลแมมโมแกรม (Digital Mammogram) เครื่องตรวจหามะเร็งเต้านม สามารถตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ระยะแรกก่อนแสดงอาการ
- ตรวจอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) เครื่องตรวจด้วยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง สะท้อนไปที่อวัยวะภายในที่ต้องการแล้วแปลงเป็นสัญญาณภาพ ซึ่งสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ได้
- เครื่องเอกซเรย์ระบบดิจิตอล (Digital Radiography) เครื่องมือการถ่ายภาพรังสีโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาร่วมในการสร้างภาพ เพื่อศึกษาระดับความทึบต่าง ๆ เช่น เนื้อเยื่อ หรือกระดูก
- เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 128 สไลค์ (Computed tomography, CT Scan 128 Slice) เป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง เครื่องนี้มีโปรแกรมช่วยลดปริมาณรังสี ทำให้ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีน้อยลงกว่า CT SCAN ที่ใช้อยู่ทั่วไปในปัจจุบัน
2. ความชำนาญของทีมแพทย์เฉพาะทาง ที่มีความชำนาญในการรักษามะเร็ง และสามารถแปลผลการตรวจได้อย่างแม่นยำ
3. การวางแผนการรักษาเฉพาะบุคคล โดยมีการวางแผนการรักษาร่วมกับทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง เช่น อายุรแพทย์ด้านโรคมะเร็ง ศัลยแพทย์ด้านโรคมะเร็ง พยาธิแพทย์ รังสีแพทย์ เจ้าหน้าที่ห้อง lab และเภสัชกร เพื่อหาวิธีการรักษาร่วมกัน ในการวางแผนและตัดสินใจเลือกแผนการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
4. ช่องทางการรักษาโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย
- การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งทุกชนิด (Cancer Screening) และการวินิจฉัยโรคมะเร็ง (Diagnosis)
- การรักษาด้วยรังสีรักษา (Radiation therapy)
- รักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)
- รักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy)
- การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative Care)
5. การติดตามผลการรักษา จะมีการติดตามและเฝ้าระวังเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากที่ทำการรักษาจนครบแล้ว
การรักษามะเร็งในปัจจุบันมีความก้าวหน้าขึ้นอย่างมากในทุก ๆ ด้าน ทั้งการผ่าตัดที่มีการพัฒนาเทคนิคที่เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาในการควบคุมมะเร็งสูงขึ้น แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง ผู้ป่วยฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็วขึ้น และการฉายรังสีที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีผลข้างเคียงลดลง และในปัจจุบันยังสามารถรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดได้ หากตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ด้วยทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง
และสำหรับคนที่มีความเสี่ยง หรืออายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างละเอียด เพื่อให้เราได้ทราบสภาพร่างกายของเรา รวมทั้งสามารถวางแผนการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคร้ายที่เกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างถูกต้อง ลดความกังวลในเรื่องสุขภาพและเพิ่มคุณภาพชีวิตของเราให้กับตัวเอง และอยู่กับคนที่รักไปนาน ๆ
นพ.ธนา ปฏิมารัตนานันท์ (อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ)
ข้อมูล ณ เดือน พฤศจิกายน 2567
ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ
สถานที่
เวลาทำการ
เบอร์ติดต่อ
045-96-8888