Header

การดูแลตัวเองหลังจากการเข้ารักษามะเร็ง

นพ.ธนา ปฏิมารัตนานันท์ นพ.ธนา ปฏิมารัตนานันท์

การฟื้นฟูร่างกายหลังการรักษามะเร็ง โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ

     มะเร็งโรคร้ายที่ใครก็มีโอกาสเป็นได้ หากเป็นแล้วต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีโอกาสรักษาให้หายขาดจากโรคเพิ่มมากขึ้น และผลกระทบจากการรักษาไม่ว่าจะทางร่างกายและจิตใจหลังจากการรักษา เช่น เคมีบำบัด การฉายแสง หรือการผ่าตัด มีผลกระทบต่อร่างกายน้อยลง 

     แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้จะรักษามะเร็งหายแล้วแต่การดูแลตัวเองหลังจากการเข้ารักษามะเร็งก็ยังถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและใช้ชีวิตที่มีคุณภาพมากขึ้น และไม่เสี่ยงกลับไปเป็นมะเร็งซ้ำอีกครั้ง ดังนั้นในบทความนี้หมอจึงรวบรวมแนวทางที่ปฏิบัติง่ายๆ ในการดูแลสุขภาพให้ผู้ป่วยกลับมาแข็งแรงหลังการรักษามะเร็งมาฝากกันครับ

 

 

การฟื้นฟูร่างกายหลังการรักษามะเร็ง

     การฟื้นฟูร่างกายหลังการรักษามะเร็งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา เนื่องจากร่างกายได้รับผลกระทบจากการรักษาและอาจเกิดอาการอ่อนเพลีย ความล้าของกล้ามเนื้อ หรือน้ำหนักลดที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้นควรให้เวลากับร่างกายในการปรับตัว โดยการฟื้นฟูร่างกายสามารถทำได้ดังนี้

  • พักผ่อนที่เพียงพอ : การนอนหลับที่เพียงพอมีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูร่างกายและระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยควรนอนหลับให้ได้ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูได้เต็มที่
  • ดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอ : การดื่มน้ำช่วยให้ร่างกายขับของเสียออกจากระบบและช่วยรักษาความสมดุลของสารเคมีในร่างกาย ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • เสริมสร้างกล้ามเนื้อด้วยอาหารโปรตีนสูง : ผู้ป่วยหลังรักษามะเร็งมักสูญเสียกล้ามเนื้อ การบริโภคโปรตีนจากแหล่งที่มีคุณภาพ เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ ถั่ว และผลิตภัณฑ์นม เป็นแหล่งโปรตีนที่ย่อยง่าย และมีโปรตีนที่สำคัญช่วยให้กล้ามเนื้อและร่างกายฟื้นฟูได้เร็วขึ้น ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แนะนำปริมาณการรับประทานที่เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย
  • ทานอาหารใหม่ สด สะอาด : หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ เนื่องจากสารเหล่านี้อาจทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพซ้ำ และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหมัก ดอง ดิบ กึ่งสุก กึ่งดิบ เพราะมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง
  • หลีกเลี่ยงการซื้อยาหรือสมุนไพรต่าง ๆ มารับประทานเอง : เพราะยาเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับและไต หรืออาจทำให้ประสิทธิภาพของยาเคมีบำบัดลดลง
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลพิษ : มลพิษหรือสารพิษอาจไปกระตุ้นการทำงานของเซลล์มะเร็งได้ เช่น ควันจากไอเสียรถยนต์ ควันบุหรี่ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีสารกระตุ้นเซลล์มะเร็ง และอาจทำให้ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานต่ำลงได้

 

การดูแลสุขภาพจิตหลังการรักษามะเร็ง

     ผู้ป่วยโรคมะเร็งต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า ความเครียด ความกลัวที่กลับมาเป็นซ้ำ ความวิตกถึงค่าใช้จ่าย และความเจ็บปวดของโรคจนส่งผลกระทบต่อสถาพจิตใจ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่จะต้องระวังอย่างมาก นอกจากสภาพร่างกายที่ต้องดูแลอย่างดีแล้วสภาพจิตใจเองก็เป็นส่วนสำคัญในการรักษามะเร็งให้หาย เพราะความเครียดเป็นปัจจัยที่ทำให้มะเร็งลุกลามได้ เมื่อฮอร์โมนความเครียดหลั่งจะทำให้มะเร็งโตขึ้น มะเร็งดื้อยามากขึ้น มะเร็งกระจายตัวมากขึ้น เพราะฉะนั้นครอบครัวและคนใกล้ตัวมีความสำคัญอย่างมากที่จะต้องเอาใจใส่ พูดคุยให้กำลังใจ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจ มีคนอยู่เคียงข้าง ไม่หมดกำลังใจในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง การดูแลสุขภาพจิตหลังการรักษามะเร็งมีแนวทางดังนี้

  • การเข้าร่วมกลุ่มสนับสนุน หรือพูดคุยกับคนรอบข้างที่ไว้ใจ : การพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ที่มีประสบการณ์ใกล้เคียงกัน ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกว่ามีคนที่เข้าใจ มีคนเป็นเหมือนกันและมีคนคอยสนับสนุน และได้รับคำแนะนำดีๆ มาปรับใช้กับชีวิต แถมยังช่วยให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเหงาอีกด้วย
  • การปรึกษาจิตแพทย์ : หากผู้ป่วยรู้สึกซึมเศร้า วิตกกังวล หรือมีปัญหาในการปรับตัวหลังการรักษา เช่น เก็บตัวอยู่แต่ในห้อง ไม่อยากทำอะไร จนไม่ให้ความร่วมมือกับการรักษา ควรปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการบำบัดที่เหมาะสม
  • การทำสมาธิและการฝึกหายใจ : การฝึกสมาธิและการหายใจลึกช่วยลดความเครียดและเพิ่มความสงบในจิตใจ ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายอีกด้วย
  • การฝึกโยคะและกิจกรรมบำบัด : การออกกำลังกายที่ผ่อนคลายและสมดุล เช่น โยคะ และการทำกิจกรรมที่สนุกสนาน ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น
  • ทำกิจกรรมที่ชอบ : เช่น ทำอาหาร วาดรูป ถักผ้าพันคอ ดูซีรีส์ ปลูกต้นไม้ ดอกไม้ ฯลฯ เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ แถมยังช่วยดึงความสนใจจากอาการป่วยได้อีกด้วย
  • การมองโลกให้ตรงกับความเป็นจริง : ยอมรับความเป็นจริง ไม่หลอกตัวเองในสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้สามารถรับมือกับอารมณ์ได้อย่างถูกต้อง

 

 

อาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยหลังการรักษามะเร็ง

     อาหารเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง อาหารเปรียบเสมือนยารักษาที่ดี ผู้ป่วยควรได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและหลากหลายในปริมาณที่เหมาะสม การได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จะช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยแข็งแรง ช่วยให้ฟื้นฟูร่างกายได้เร็วขึ้นหลังจากได้รับการรักษา อาหารที่ควรรับประทานหลังได้รับเคมีบำบัดได้แก่

  • อาหารประเภทโปรตีน : เนื้อปลา นม อาหารทะเล เนื้อไก่ เนื้อหมู ไข่ไก่ต้มสุก  เต้าหู้ อาหารประเภทถั่วต่างๆ และเห็ด เป็นแหล่งโปรตีนที่ย่อยง่าย  จะช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อและซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆ ที่ถูกทำลายไป 
  • อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต : ข้าว เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไร้เบอรี่ ข้าวแดง และขนมปังต่างๆ มีใยอาหารและวิตามินจะช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลัง ไม่อ่อนเพลีย และช่วยรักษาระดับน้ำหนักไม่ให้ลดลงมาก 
  • อาหารสด สะอาด ปรุงสุกใหม่ : อาหารที่สุกและสะอาดช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคในระบบทางเดินอาหาร
  • อาหารประเภทวิตามิน : วิตามินจะมีอยู่ในผักและผลไม้ต่างๆ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น เบอร์รี่ ส้ม ฝรั่ง แอปเปิ้ล มะละกอสุก มะม่วงสุก คะน้า แครอท ผักโขม บล็อคโคลี่ ฟักทอง มะเขือเทศ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงน้ำตาลและอาหารที่มีแคลอรีสูง : อาหารที่มีน้ำตาลสูงอาจกระตุ้นการอักเสบและเสี่ยงต่อการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็ง
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด : หวานจัด เค็มจัด จะเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน กินเค็มจะเสี่ยงเป็นโรคไต โรคความดันโลหิตสูง

 

การจัดการกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการรักษามะเร็ง

     ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการรักษามะเร็งสามารถเกิดได้ในหลายรูปแบบ  แต่อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงที่แตกต่างกันขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ชนิดของมะเร็ง ส่วนของร่างกายที่ถูกรักษา และปริมาณของการรักษา โดยอาการข้างเคียงส่วนมากมักหายไปหลังเสร็จสิ้นการรักษา 
หากมีอาหารรู้สึกเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน: ให้รับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ ผู้ป่วยส่วนมากรู้สึกอยากรับประทานอาหารในช่วงเช้าดีกว่าช่วงอื่น หรือมื้อก่อนการให้ยาเคมีบำบัด ควรเลือกรับประทานอาหารที่ชอบถ้าไม่อยากรับประทานอาหาร หรือข้าว อาจลองรับประทานอาหารเหลว เช่น ซุป น้ำผลไม้ หรือ นม เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหาร และพลังงานที่เพียงพอ หลีกเลี่ยงจากอาหารที่มีกลิ่นฉุนต่างๆ เช่น กลิ่นกระเทียม หัวหอม กลิ่นเครื่องเทศต่างๆ

  • หากมีน้ำหนักลดลงมาก : ให้เพิ่มพลังงานและโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ถั่ว ไข่ ในมื้ออาหาร จัดอาหารว่างเสริมระหว่างวัน เช่น แซนวิชไข่ นม ไอศกรีม น้ำเต้าหู้ ขนมปังกรอบต่างๆ เป็นต้น และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • มีแผลบริเวรปากหรือมีอาการเจ็บคอ : รับประทานอาหารที่อ่อนเคี้ยวกลืนง่าย เช่น นมปั่น กล้วย แตงโม โยเกิร์ต ผักต้มสุก มันฝรั่งบด โจ๊ก ข้าวต้ม หรือ นม น้ำเต้าหู้ หลีกเลี่ยงอาหาร หรือของเหลวที่ระคายเคืองช่องปาก และอาหารที่มีรสจัด เช่น ส้ม มะนาว รสเผ็ดจัด เค็มจัด ผักที่ไม่ได้ทำให้สุก หรือน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของ แอลกอลฮอล์ รวมถึงอาหารที่ร้อนจัด และเย็นจัดมากเกินไป หลังจากรับประทานอาหารเสร็จให้บ้วนปากบ่อยๆ ด้วยน้ำเปล่า เพื่อกำจัดเศษอาหาร 
  • มีอาการท้องเสีย : หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่อาจจะทำให้ท้องเสีย ได้แก่ นม ผลไม้ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต อาหารมัน อาหารรสเผ็ด อาหารหมักดอง เป็นต้น นอกจากนี้ หากดื่มนมแล้วท้องเสีย สามารถเปลี่ยนมาดื่มน้ำเต้าหู้ หรือนมถั่วเหลืองแทนได้ หากท้องเสียมากโดยถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้ง/วัน ให้ดื่มน้ำหรือเกลือแร่ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไป สำหรับอาหารที่ทานได้ ได้แก่ โยเกิร์ต ข้าว ก๋วยเตี๋ยว มันฝรั่ง ไข่ต้ม ขนมปัง ไก่อบ เป็นต้น

 

วิธีป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็ง

     หลังจากรักษาโรคมะเร็งสิ้นสุดแล้ว ยังสามารถกลับมาพบเซลล์มะเร็งได้อีก โยแพทย์จะให้คำวินิจฉัยว่า “เกิดการเป็นซ้ำของโรค” หรือ “มะเร็งกำเริบ” ในช่วง 5 ปีแรกหลังการรักษา ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งจากมีเซลล์ที่เล็ดลอดการรักษาไปได้ ร่างกายผู้ป่วยดื้อต่อยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีในการรักษามะเร็ง ที่อาจทำให้เสี่ยงเกิดมะเร็งย้อนกลับได้ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นมะเร็งเช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้มีโอกาสกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำได้ค่อนข้างสูง ซึ่งในปัจจุบันเราแบ่งชนิดของการกลับเป็นซ้ำ ได้ 3 แบบ

  1. การกลับเป็นซ้ำแบบเฉพาะจุด (Local recurrence)
  2. การกลับเป็นซ้ำแบบขยายพื้นที่ (Regional recurrence)
  3. การกลับเป็นซ้ำแบบระยะกระจาย (Distant recurrence)

     สำหรับวิธีป้องกันผู้ป่วยจะต้องดูแลร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงบรรยากาศที่เป็นพิษ ความเครียด และตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจหาความผิดปกติและการเกิดซ้ำของมะเร็ง 

 

คำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยหลังการรักษามะเร็ง

     การออกกำลังกายมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพราะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ลดผลข้างเคียง จากการรักษามะเร็ง เช่น อาการอ่อนเพลีย ปวด กล้ามเนื้อลีบ และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต เช่น ลดความเครียด ลดความเสี่ยงโรคซึมเศร้าได้ แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีปัญหาในการเริ่มต้นการออกกำลังกาย เช่น กลัวว่าออกกำลังกายแล้วจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายจึงไม่อยากออกกำลังกาย หรืออยากออกกำลังกายแต่ไม่ทราบว่าควรเริ่มต้นอย่างไรดี

     ตำแหน่งของโรคมะเร็งนั้น มีความสำคัญกับการเลือกการออกกำลังกายอย่างมาก หากผู้ป่วยต้องการออกกำลังกายหลังการรักษามะเร็ง ต้องใช้เวลาให้ร่างกายได้พักฟื้นสักช่วงหนึ่งก่อน เมื่อร่างกายกลับมาแข็งแรงขึ้นก็สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติเพียงแต่โรคมะเร็งอาจส่งผลกับผู้ป่วยในบางกรณี เช่น ผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ผ่าตัดปอดออกไปเหลือเพียงหนึ่งข้างอาจทำให้เหนื่อยง่าย ผู้ป่วยมะเร็งในกระดูกอาจจะไม่สามารถออกกำลังกายที่มีการกระแทกได้ เป็นต้น จึงต้องดูรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคล และสำหรับคนไข้โรคมะเร็งที่กำลังอยู่ในโปรแกรมการรักษาด้วยการฉายแสง แม้ว่าจะเป็นโรคมะเร็งในอวัยวะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการออกกำลังกายแต่ควรงดการออกกำลังกายไว้ก่อน

 

วิธีการเลือกการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยมีดังนี้

  • ประเมินร่างกายและเลือกรูปแบบการออกกำลังกายให้เหมาะสม
  • เริ่มต้นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ขอให้ทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหมเพราะจะทำให้ร่างการอ่อนล้า
  • ออกกำลังกายเท่าที่รู้สึกว่าตัวเองไหว และค่อยๆ เพิ่มการออกกำลังกายทีละเล็กน้อย
  • ระหว่างวันพยายาม หลีกเลี่ยงการนั่งหรือนอนเฉยๆ เป็นเวลานานๆ

 

ศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ

     โรคมะเร็งเป็นโรคร้ายที่ยังคงเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน การรักษามะเร็งได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมาก ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสฟื้นฟูร่างกายและใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ ที่ศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ เราให้บริการการรักษามะเร็งที่ครบวงจร โดยมีทีมแพทย์เฉพาะทางโรคมะเร็ง พร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งการดูแลอย่างต่อเนื่องและการติดตามผลเพื่อให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีในระยะยาว

 

บทความโดย
นพ.ธนา ปฏิมารัตนานันท์ (แพทย์เฉพาะทางมะเร็ง โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ)
ข้อมูล ณ เดือน ธันวาคม 2567



ศูนย์การรักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์มะเร็งครบวงจร ศรีสะเกษ โรงพยาบาลพริ้นซ์ศรีสะเกษ

ศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ

สถานที่

เวลาทำการ

เบอร์ติดต่อ

045-96-8888

แพทย์ประจำศูนย์

ศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ

แพทย์หญิง กฤติกา โภคสวัสดิ์

รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา

ศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ

แพทย์หญิง สุภัชชา เขียวหวาน

รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา

ศูนย์มะเร็งและรังสีรักษา โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ

นพ.ธนา ปฏิมารัตนานันท์

อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา

แพทย์แนะนำ

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

พญ.กิติยา จันทรวิถี

พญ.กิติยา จันทรวิถี

ศูนย์ศัลยกรรมทั่วไป

อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ. ลิขิต กำธรวิจิตรกุล

ศัลยเเพทย์ออร์ปิดิกส์