มะเร็งเต้านม คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา ภัยร้ายผู้หญิงไทย
![ความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ](https://website-storage.princhealth.com/pssk/articles/20250122141731-มะเร็งเต้านมโรงพยาบาลพริ้นซ์ศรีสะเกษ_2568-800-x-1200.webp)
วายร้ายที่คร่าชีวิตหญิงไทย มะเร็งเต้านม หนึ่งในโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงทั่วโลก ภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของเหล่าสตรีมาเป็นเวลานานรวมถึงในประเทศไทยด้วย ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงอยากให้สาว ๆ ทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพกันดีกว่าครับ อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือคิดว่าไม่มีโอกาสเกิดครับ เพราะโรคนี้เป็นโรคที่มักไม่มีอาการแสดงให้เห็นในระยะแรกเลยครับ กว่าที่คุณจะรู้ตัว มะเร็งก็ลุกลามไปเป็นวงกว้างจนแทบสายไปเสียแล้ว ดังนั้นคงไม่มีใครอยากให้เกิดกันใช่ไหมครับ มะเร็งเต้านมสามารถตรวจได้ง่าย ด้วยการหมั่นเช็คด้วยตัวเอง หรือเข้ารับการตรวจคัดกรองก็ได้ครับ เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนตื่นตัวกับโรคนี้ ดังนั้นก่อนอื่นเราจะมาทำความรู้จักมะเร็งเต้านมกันก่อนครับ เพื่อให้ทราบถึงแก่นแท้ของโรค สาเหตุ อาการ การรักษา กับภัยร้ายของผู้หญิงไทยมะเร็งเต้านมครับ
มะเร็งเต้านม คืออะไร
มะเร็งเต้านม (Breast Cancer) คือ โรคที่เกิดจากเซลล์ที่เจริญเติบโตรวดเร็วมากผิดปกติในเนื้อเยื่อของเต้านม เมื่อเซลล์ในเต้านมที่ผิดปกติแบ่งตัวออกเป็นมะเร็ง จะเริ่มเกิดการลุกลามจนควบคุมไม่ได้ และแพร่กระจายเข้าสู่อวัยวะอื่นในที่สุด โดยเซลล์ที่ผิดปกติจะกลายเป็นก้อนเนื้อร้ายที่สามารถเข้าไปทำลายยังเนื้อเยื่อ และอวัยวะใกล้เคียงของร่างกายในบริเวณกว้าง และมักไม่แสดงอาการในระยะแรก
สถิติมะเร็งเต้านม ของผู้หญิงไทย
ในปัจจุบันพบว่าอัตราการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิงไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติสาธารณสุขปี 2022 เผยว่ามะเร็งเต้านม อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมในผู้หญิงไทยยังคงสูงเป็นอันดับหนึ่งจากการเสียชีวิตโรคมะเร็งในผู้หญิง และคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี จากเดิมที่มะเร็งเต้านมพบเป็นอันดับสองในสาเหตุการเสียชีวิตรองลงมาจากมะเร็งปากมดลูก แต่ปัจจุบันพบว่ามะเร็งเต้านมถูกจัดขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งเป็นที่เรียบร้อย ที่น่าตกใจคือมีอัตราการพบมะเร็งเต้านมรายใหม่ 49 คนต่อวัน หรือมากกว่า 18,000 คนต่อปี มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 13 คนต่อวัน และยังคิดเป็นร้อยละ 12 ของมะเร็งทั้งหมดอีกด้วยครับ
อาการมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านม ในระยะเริ่มแรกมักจะไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ ซึ่งทำให้อาจจะยังไม่มีอาการที่ชัดเจน แต่เมื่อโรคเข้าสู่ระยะที่เริ่มลุกลาม อาจมีอาการที่แสดงให้เห็นมากขึ้น ซึ่งอาการก็จะแตกต่างกันไปตามระยะของโรค ดังนี้
- คลำพบก้อนในเต้านม : มักมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่จะรู้สึกได้ตอนคลำว่าพบเป็นก้อนมักแข็ง ไม่เคลื่อนที่ และไม่มีอาการเจ็บ
- มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงของเต้านม : เต้านมอาจมีขนาดเล็กลง หรือใหญ่ขึ้นผิดปกติ
- ผิวหนังบริเวณเต้านมมีลักษณะเปลี่ยนแปลง : ผิวหนังเต้านมอาจดูเหมือนมีผิวที่ขรุขระ คล้ายเปลือกส้ม มีอาการบวม หรือเปลี่ยนสีของผิวหนังที่เต้านม เช่น มีรอยบุ๋ม ผิวหนังเป็นหลุม หรือมีเกล็ด
- มีน้ำเหลืองไหลออกจากหัวนม : รวมถึงหัวนมอาจมีการเปลี่ยนแปลง มีของเหลวหรือเลือดออกจากหัวนม อาจมีสีใส หรือมีเลือดปน
- ต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้โต : เมื่อมะเร็งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณรักแร้ จะสังเกตเห็นว่ามีการบวมที่รักแร้ หรือก้อนที่รักแร้
- การเจ็บที่เต้านม : บางกรณีอาจรู้สึกปวด หรือคัดเต้านม แต่บางครั้งก็ไม่เจ็บ
มะเร็งเต้านม มีกี่ระยะ?
มะเร็งเต้านมสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ตามระดับความรุนแรงและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง โดยจะมีการแบ่งประเภท ดังนี้
- ระยะเริ่มต้น เป็นระยะที่เซลล์บริเวณเต้านมเริ่มมีความผิดปกติ หรือเปลี่ยนแปลง จะอยู่เพียงตำแหน่งเดิม แต่ยังไม่เกิดการแพร่กระจาย ซึ่งการรักษาในระยะยังมีโอกาสหายขาดมีสูงมาก
- มะเร็งเต้านมระยะที่ 1 มะเร็งเต้านมระยะแรก ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กเพียง 2 เซนติเมตร และยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หากตรวจพบในระยะนี้ โอกาสในการรักษาให้หายขาดเป็นไปได้สูงมาก
- มะเร็งเต้านมระยะที่ 2 เป็นระยะที่มะเร็งมีขนาดโตขึ้น2-5 เซนติเมตร และเริ่มลุกลามออกนอกเต้านม โดยเซลล์มะเร็งเริ่มลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียง แต่ยังไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะที่ห่างไกล
- มะเร็งเต้านมระยะที่ 3 มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะใกล้เคียง เป็นระยะที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร และลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองหลายแห่ง หรือไปที่เนื้อเยื่อรอบข้าง
- มะเร็งเต้านมระยะที่ 4 มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะที่ไกลออกไป เป็นระยะที่มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด ตับ กระดูก หรือสมอง ซึ่งเป็นระยะที่การรักษาเป็นไปได้ยาก และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ รักษาด้วยดูแลแบบประคับประคองเพื่อบรรเทาอาการ
สาเหตุมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านม เกิดจากการที่เซลล์ภายในเต้านมเกิดการทำงานผิดปกติจนไม่สามารถควบคุมได้ และกลายเป็นก้อนเนื้อร้ายอย่างมะเร็งในที่สุด ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งเต้านมนี้ได้ แต่เรายังสามารถควรต้องตื่นตัวตลอดเวลา ด้วยการคัดกรองสุขภาพ และชักชวนเพื่อนสาว หรือคนรู้จักเข้าร่วมกันคัดกรองมะเร็งเต้านมได้ครับ
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อมะเร็งเต้านม
- อายุ : อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ดังนั้นจึงควรเริ่มตรวจคัดกรองตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป และหมั่นตรวจซ้ำทุกปี สำหรับคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจแบบละเอียดด้วยการอัลตราซาวน์เพิ่มเติมด้วย
- ฮอร์โมน : การมีประจำเดือนครั้งแรกเร็ว หรือหมดประจำเดือนช้า รวมถึงระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่สูงก็ส่งผลให้มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป
- การตั้งครรภ์ : สำหรับผู้หญิงที่ไม่เคยตั้งครรภ์หรือมีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี หรือไม่เคยให้นมบุตร ก็มีความเสี่ยงสูงขึ้นกว่าปกติ
- พฤติกรรมเสี่ยง : การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะอ้วน การไม่ออกกำลังกาย และการทานอาหารไขมันสูง
- กรรมพันธุ์ : บางคนอาจมีพันธุกรรมที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมสูงกว่าคนทั่วไป ดังนั้นคนที่มีความเสี่ยง ต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพอย่างเคร่งครัดนะครับ
การป้องกันมะเร็งเต้านม
การตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกัน และตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นสิ่งสำคัญมากที่ไม่อยากให้มองข้ามกันเลยครับ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ตรวจพบก้อนเนื้อ หรือความผิดปกติในเต้านมได้ก่อนที่เราจะรู้สึกตัวหรือมีอาการ จะช่วยให้สามารถเริ่มวางแผนการรักษาได้เร็วขึ้น และเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดมากขึ้นนั่นเองครับ สามารถป้องกันได้ง่าย ๆ ตามนี้ครับ
- ตรวจเต้านมด้วยตนเอง : ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งหลังจากประจำเดือนหมด เพื่อสังเกตความผิดปกติ เช่น ก้อนเนื้อ บริเวณที่แข็ง หรือการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเต้านม
- การตรวจแมมโมแกรม : ควรตรวจสุขภาพเต้านมตามช่วงอายุที่แพทย์แนะนำ โดยทั่วไปจะเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงสูงอาจจะต้องเริ่มตรวจเร็วขึ้น
- อัลตราซาวด์เต้านม : การใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม ใช้เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของเนื้อเยื่อเต้านม
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
การเช็คมะเร็งเต้านมเบื้องต้นด้วยตนเอง
มะเร็งเต้านมสามารถทำได้ด้วยตัวเองครับ เพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงในเต้านมของตัวเอง ซึ่งควรทำการตรวจเต้านมหลังจากหมดประจำเดือน 7-10 วัน เพราะเป็นช่วงที่เต้านมไม่บวมและนิ่ม ทำให้ตรวจได้ง่ายขึ้น มีวิธีตรวจดังนี้
1. การตรวจในขณะยืนหน้ากระจก
- ยืนตรงหน้าในกระจก ใช้มือวางไว้ที่สะโพกหรือยกมือขึ้นเหนือศีรษะ
- สังเกตการเปลี่ยนแปลงของเต้านม เช่น รูปร่าง ขนาด หรือสีของผิวหนัง อาจเห็นการยุบลงหรือยื่นขึ้นของเต้านม
- สังเกตความผิดปกติของผิวหนัง เช่น ผื่น หรือการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของผิวหนัง เช่น ผิวเหี่ยวย่น หรือบวม
2. การตรวจในขณะนอนลง
- นอนราบลงบนเตียงโดยให้แขนข้างที่ตรวจอยู่เหนือศีรษะ
- ใช้มืออีกข้างที่ไม่ได้ตรวจค่อย ๆ คลำไปตามเต้านมในทิศทางที่เป็นระเบียบ โดยการใช้ปลายนิ้วกลางและนิ้วชี้
- คลำไปทั่วเต้านม ตั้งแต่ส่วนล่างสุดจนถึงบริเวณรักแร้
- ตรวจให้ทั่วทั้งเต้านม โดยการกดเบา ๆ กดปานกลาง และกดแรง เพื่อให้รู้สึกถึงเนื้อเยื่อภายใน
3. การคลำเนื้อเยื่อเต้านม
- ควรตรวจเนื้อเยื่อในทุกบริเวณของเต้านม ทั้งส่วนบนกลาง ขอบด้านข้าง และด้านล่าง
- สังเกตการคลำพบก้อนที่อาจเป็นมะเร็งหรือเนื้อเยื่อที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ก้อนแข็งหรือที่มีขอบที่ไม่เรียบ
4. การตรวจในขณะยกแขนขึ้น
- ยกแขนขึ้น และตรวจเต้านมในลักษณะเดียวกันกับการตรวจในขณะนอนลง โดยคลำทั่วเต้านม เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลง หรือก้อนที่ไม่ปกติในระหว่างการยกแขน
5. สังเกตอาการผิดปกติอื่นๆ
- ความผิดปกติที่อาจพบ ได้แก่ การตกเลือดจากหัวนมหรือการหลั่งน้ำจากหัวนม หากไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ หรือการให้นมบุตร
- รู้สึกเจ็บบริเวณเต้านมหรือมีการบวม
- ผิวหนังที่เปลี่ยนแปลงเป็นรูปร่างเหี่ยวย่นหรือเป็นรอยบาก
การวินิจฉัยมะเร็งเต้านม
การวินิจฉัยมะเร็งเต้านม หลายคนแค่ได้ยินก็คงใจเสียกันแล้วใช่ไหมครับ แต่การวินิจฉัยเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการระบุระยะโรค เพื่อให้สามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสมได้ครับ เมื่อมีการตรวจพบความผิดปกติที่เต้านม ไม่ว่าจะเป็นจากการตรวจเต้านมด้วยตนเอง หรือผลการตรวจอื่น ๆ แพทย์จะทำการวินิจฉัยเพื่อยืนยันว่าเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ และหากเป็นมะเร็งเต้านม จะเป็นชนิดใด มีการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ของร่างกายหรือไม่
1. การตรวจร่างกาย
ทำการตรวจร่างกายโดยละเอียด โดยเฉพาะบริเวณเต้านม และต่อมน้ำเหลือง เพื่อประเมินขนาด และตำแหน่งของก้อนเนื้อ รวมถึงตรวจสอบความผิดปกติอื่น เช่น ผิวหนัง บริเวณหัวนม
2. การตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy)
การนำชิ้นเนื้อจากก้อนที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งไปตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อยืนยันว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ และเป็นมะเร็งชนิดใด ด้วยการเจาะดูดด้วยเข็ม หรือการผ่าออก
3. การตรวจคัดกรอง (Screening)
- แมมโมแกรม (Mammogram) : การตรวจรังสีเอกซเรย์เต้านมเพื่อหาก้อนมะเร็งที่อาจมองไม่เห็นจากการตรวจด้วยมือ ซึ่งจะช่วยตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือสังเกตเห็นอาการผิดปกติ
- อัลตราซาวด์เต้านม (Breast Ultrasound) : การใช้คลื่นเสียงเพื่อสร้างภาพของเต้านม เพื่อช่วยตรวจหาก้อนหรือมวลในเต้านมที่อาจจะเป็นมะเร็งหรือไม่
- การตรวจแมมโมแกรมร่วมกับอัลตราซาวด์ : ในผู้หญิงที่มีเนื้อเต้านมหนาหรืออายุน้อย ทั้งสองวิธีจะช่วยให้สามารถตรวจพบมะเร็งได้ดียิ่งขึ้น
4. การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
- MRI (Magnetic Resonance Imaging) : การใช้คลื่นแม่เหล็กเพื่อสร้างภาพของเต้านม ซึ่งอาจใช้ในการประเมินขนาดและการแพร่กระจายของมะเร็งเต้านม
- การตรวจทางพันธุกรรม (Genetic Testing) : สำหรับผู้ที่มีประวัติครอบครัวมะเร็งเต้านมหรือมีความเสี่ยงทางพันธุกรรม เช่น การทดสอบยีน BRCA1 หรือ BRCA2 เพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมในอนาคต
- PET Scan : เป็นการตรวจโรคทางด้านรังสิวิทยา โดยการใช้สารกัมมันตรังสีเพื่อตรวจหาการแพร่กระจาย
- CT Scan : ใช้ในการตรวจสอบการแพร่กระจายของมะเร็งเต้านมไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น กระดูก ปอด หรือตับ
การรักษามะเร็งเต้านม
การรักษาโรคมะเร็งเต้านม ขึ้นอยู่กับระยะของโรคด้วยครับ ถ้าเจอตั้งแต่เนิ่น ๆ โอกาสรักษาหายมีสูง แต่ทั้งนี้อย่างที่ทราบกันดีว่ามะเร็งเต้านม น่ากลัวตรงที่ไม่มีอาการแสดงใด ๆ เลย หรือในบางรายที่มีก้อน แต่ก็ปล่อยผ่านมาเรื่อย ๆ กว่าเราจะรู้ตัวก็อยู่ในระยะที่ลุกลามไปแล้ว ดังนั้นการรักษาจึงจะขึ้นอยู่กับระยะที่พบครับ
1. การผ่าตัด : เป็นวิธีการรักษาหลักที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่น
- การผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนมะเร็งออก (Breast-conserving surgery) ในกรณีที่มะเร็งยังอยู่ในระยะแรก ๆ อาจสามารถทำการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกโดยที่ยังคงรักษาเต้านมไว้ได้
- การผ่าตัดเอาเต้านมออกทั้งหมด (Mastectomy) เป็นการผ่าตัดเอาเต้านมที่มีมะเร็งออกไป ซึ่งอาจทำโดยขึ้นอยู่กับขนาด และตำแหน่งของก้อนมะเร็ง
- การผ่าตัดออกทั้งหมด (total mastectomy)
- ผ่าตัดออกเพียงบางส่วน (partial mastectomy หรือ lumpectomy)
- การผ่าตัดต่อมน้ำเหลือง ในกรณีที่มะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง
2. การฉายรังสีและเคมีบำบัด : ช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งเป็นทางเลือกในการรักษามะเร็งที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือในกรณีที่มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น
3. การประคับประคอง : ในกรณีที่เจอช้าการรักษาอาจจะเป็นแค่การประคองอาการเท่านั้น
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความคิดที่ว่า รู้งี้น่าจะตรวจตั้งนานแล้ว เราควรตระกันกันตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปครับ เพราะการการรักษา ต้องขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมถึงระยะของโรค สภาพร่างกายของผู้ป่วย และประวัติสุขภาพ โรคมะเร็งเต้านมเป็นเรื่องที่เราแก้ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ครับดังนั้นอยากให้ทุกคนหันมาใส่ใจตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมกันด้วยนะครับ
ศูนย์มะเร็ง PSSK
ศูนย์มะเร็ง PSSK เป็นศูนย์กลางที่มุ่งเน้นการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างครบวงจร ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา พร้อมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเรามีเป้าหมายให้บริการรักษามะเร็งและรังสีรักษา ที่มีมาตรฐานสากลเพื่อให้ชาวศรีสะเกษและพื้นที่ใกล้เคียง ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
เรามุ่งมั่นเพื่อเดินหน้ายกระดับการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ ด้วยการเปิดศูนย์มะเร็งและรังสีรักษาแห่งแรกของจังหวัดศรีสะเกษ ถือเป็นการร่วมกับภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในพื้นที่อย่างครบวงจร และทันสมัย ให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่มุ่งเน้นการดูแลผู้ป่วยมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจนถึงระยะสุดท้าย ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาค หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์มะเร็ง PSSK สามารถติดต่อได้ที่ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ
บทความโดย
นพ.ธนา ปฏิมารัตนานันท์ (แพทย์เฉพาะทางมะเร็ง โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ)
ข้อมูล ณ เดือน มกราคม 2568